เปิดแล้ว! ‘ท่าเรือท่าเตียน’ โฉมใหม่ สวยงามสไตล์สถาปัตยกรรม ‘นีโอคลาสสิก & โรมันผสมคลาสสิก’ ยกระดับท่าเรือริมเจ้าพระยา

“มนพร” กดปุ่มเปิดใช้ “ท่าเรือท่าเตียน” โฉมใหม่ สวยงามสไตล์สถาปัตยกรรม “นีโอคลาสสิก & โรมันผสมคลาสสิก” เชื่อมโยงศูนย์กลางการคมนาคมไร้รอยต่อ “ล้อ-ราง-เรือ” ยกระดับท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกางแผนพัฒนาท่าเรือในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 29 ท่าเรือ จ่อทยอยปรับปรุงแล้วเสร็จอีก 5 ท่าเรือ ภายในปีนี้ 

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดใช้ท่าเรือท่าเตียน วันนี้ (5 เม.ย. 256) ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบให้กระทรวงคมนาคมเดินหน้าสานต่อความสำเร็จตามนโยบาย “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า (จท.) ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจกำกับดูแลความปลอดภัยทางน้ำได้พัฒนาท่าเรือตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นท่าเรือที่มีความสะดวก ปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ทั้งนี้ รองรับการเดินทางสัญจรทางน้ำของประชาชนและนักท่องเที่ยวทุกคน เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม “ล้อ-ราง-เรือ” อย่างไร้รอยต่อ สำหรับท่าเรือท่าเตียนแห่งนี้จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวสู่วัดอรุณราชวราราม ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างความสุข สร้างรอยยิ้ม และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย ตามนโยบาย “ราชรถยิ้ม” ของกระทรวงคมนาคม

ด้านนายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดี จท. กล่าวว่า จท. ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเรือท่าเตียนและพื้นที่ด้านหน้าอาคารสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ งบประมาณ 39.047 ล้านบาท โดยได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมออกทั้งหมดและก่อสร้างท่าเรือใหม่ทั้งเรือข้ามฟากและเรือโดยสาร ประกอบด้วย อาคารที่พักผู้โดยสาร จำนวน 2 หลัง โป๊ะเทียบเรือขนาด 6 x 12 เมตร จำนวน 4 โป๊ะ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ได้แก่ ป้ายบอกเส้นทางเดินเรือ ระบบเสียง กล้องวงจรปิด และทางลาดผู้พิการ

ทั้งนี้ ออกแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ศิลปะแบบโรมันผสมคลาสสิก ตกแต่งปูนปั้นเหนือช่องหน้าต่างพร้อมตกแต่งบานหน้าต่างด้วยลูกฝัก และทาสีตัวอาคารตามหลักสถาปัตยกรรมที่อยู่ในเขตกรุงเก่า สามารถรองรับเรือต่าง ๆ อาทิ เรือข้ามฟากท่าเตียน ฝั่งท่าวัดอรุณราชวราราม ฝั่งธนบุรี เรือโดยสารสาธารณะ เรือด่วนเจ้าพระยา เรือไฟฟ้า เรือทัวร์ และเรือทั่วไป

สำหรับแผนพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานีเรือทั้งหมด 29 ท่า มีผลการดำเนินงาน ดังนี้

1.ท่าเรือที่ปรับปรุงแล้วเสร็จ จำนวน 10 ท่า ได้แก่ ท่าเรือ จท. ท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือพายัพ ท่าเรือบางโพ ท่าเรือท่าช้าง ท่าเรือราชินี ท่าเรือท่าเตียน ท่าเรือสาทร และท่าเรือคลองสาน

2.ท่าเรือที่อยู่ระหว่างปรับปรุง จำนวน 5 ท่า ได้แก่ ท่าเรือพระปิ่นเกล้า ผลการดำเนินงาน 60% คาดว่าจะแล้วเสร็จ เม.ย. 2567 ท่าเรือพระราม 5 ผลการดำเนินงาน 45% คาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ค. 2567 ท่าเรือปากเกร็ด ผลการดำเนินงาน 20% คาดว่าจะแล้วเสร็จ ส.ค. 2567 ท่าเรือพระราม 7 ผลการดำเนินงาน 42% คาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ย. 2567

ขณะที่ ท่าเรือเกียกกาย ผลการดำเนินงาน 24% คาดว่าจะแล้วเสร็จ ธ.ค. 2567 ทั้งนี้ เนื่องจากตำแหน่งก่อสร้างท่าเรือเกียกกายเป็นบริเวณเดียวกับตำแหน่งก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อให้การก่อสร้างทั้ง 2 โครงการไม่กีดขวางกัน จึงมอบให้ กทม. ดำเนินการต่อ

3.ท่าเรือที่มีแผนพัฒนาปรับปรุงในปี 2568 จำนวน 4 ท่า ได้แก่ ท่าเรือโอเรียนเต็ล ท่าเรือเทเวศร์ ท่าเรือสะพานกรุงธน (ซังฮี้) และท่าเรือเขียวไข่กา

4.ท่าเรือที่มีแผนพัฒนาปรับปรุงในปี 2569 จำนวน 11 ท่า ได้แก่ ท่าเรือราชวงศ์ ท่าเรือวัดเทพากร ท่าเรือพิบูลสงคราม 2 ท่าเรือวัดเทพนารี ท่าเรือวัดตึก ท่าเรือรถไฟ ท่าเรือพิบูลสงคราม ท่าเรือสี่พระยา ท่าเรือวัดเขมา ท่าเรือพรานนก และท่าเรือวัดสร้อยทอง