‘สุริยะ’ สั่ง AOT ศึกษาปรับขึ้น ’ค่าธรรมเนียมผู้โดยสารขาออก‘ เทียบต่างประเทศ หวังนำรายได้ใช้พัฒนาสนามบิน คาดได้ข้อสรุป ก.ย.นี้
“สุริยะ” สั่ง AOT เร่งศึกษาปรับขึ้นค่าธรรมเนียมผู้โดยสารขาออก “PSC” เทียบประเทศอื่นในภูมิภาค “สิงคโปร์-ญี่ปุ่น-ฮ่องกง” พร้อมประเมินผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดศึกษาเสร็จภายใน 2 เดือน หวังเพิ่มรายได้ นำเม็ดเงินไปพัฒนาสนามบิน เล็งนำร่องใช้สร้าง South Terminal ด้าน AOT เผย มีรายได้จากค่า PSC กว่าปีละ 2 หมื่นล้าน
จากกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงประเทศไทยมีศักยภาพจะเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค แต่กลับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมผู้โดยสารขาออก (PSC) ต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์ พร้อมเสนอว่า หากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT มีการปรับเพิ่มค่า PSC เพียง 100 บาท จะทำให้มีกำไรเพิ่มปีละกว่า 14,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำกำไรดังกล่าว มาดำเนินการขยาย และพัฒนาท่าอากาศยานต่างๆ ได้นั้น
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า AOT ได้ดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาเข้ามาดำเนินการศึกษาเรื่องการปรับขึ้นค่า PSC แล้ว พร้อมทั้งมอบหมายให้ AOT เปรียบเทียบอัตราค่า PSC ที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเรียกเก็บอยู่ในปัจจุบัน เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง เป็นต้น เพื่อพิจารณาว่า ประเทศไทยควรปรับเพิ่มค่า PSC ในอัตราเท่าไหร่ อย่างไร และหากมีการปรับเพิ่มค่า PSC นั้น จะประเมินถึงผลกระทบต่อจำนวนผู้โดยสาร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้โดยสารต่างชาติว่า อาจจะลดลงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คาดว่า ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน
สำหรับการปรับเพิ่มค่า PSC ในครั้งนี้ จะทำให้ AOT มีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถนำรายได้ดังกล่าว ไปใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงท่าอากาศยานต่างๆ ของประเทศ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องดำเนินการ เช่น AOT มีแผนดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หากมีการเก็บค่า PSC เพิ่มขึ้น ก็สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างโครงการได้ เป็นต้น ทั้งนี้ ยืนยันว่า การปรับเพิ่มค่า PSC นั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องสภาพคล่องทางการเงินของ AOT แต่อย่างใด
ด้าน น.ส.ปวีณา จริยฐิติพงศ์ รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ปัจจุบัน ทอท.อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาปรับขึ้นค่าธรรมเนียมบริการผู้โดยสาร PSC โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ และนำมาใช้ลงทุนยกระดับท่าอากาศยานในสังกัดให้เป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาคเอเชีย โดยการปรับขึ้นค่า PSC นั้น ทอท.จะต้องศึกษารายละเอียดในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสนามบิน
โดยเบื้องต้น ทอท.คาดว่าจะศึกษาเสร็จภายใน ต.ค.นี้ ก่อนจะนำเสนอต่อสำนักงานการบินพลเรือน (กพท.) และคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ต่อไป โดย ทอท.คาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับค่า PSC ให้ได้ภายในปีนี้ เนื่องจากทุกวันที่ล่าช้าหมายถึงการสูญเสียรายได้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาท่าอากาศยาน ขณะที่ปัจจุบัน ทอท. มีรายได้จากค่า PSC ประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ทอท.จัดเก็บค่า PSC แบ่งเป็น ผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศอยู่ที่ 730 บาท และผู้โดยสารขาออกในประเทศอยู่ที่ 130 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับสนามบินชั้นนำอื่นๆ ทั่วโลก และที่ผ่านมาไม่ได้มีการปรับขึ้นมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งล่าสุดในปี 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ปรับขึ้น แต่อนุมัติให้ปรับในอัตรา 30 บาท ซึ่งยังต่ำกว่าท่าอากาศยานอื่นๆ จึงทำให้ ทอท.ต้องศึกษาแนวทางปรับขึ้น เพื่อหาจุดที่เหมาะสม และทำให้ ทอท. มีรายได้เพียงพอที่จะพัฒนาสนามบินให้เป็นฮับตามเป้าหมาย
น.ส.ปวีณา กล่าวว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ต้องพัฒนาเพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน คือ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสาร โดยเฉพาะผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่อง (Transit) ซึ่ง ทอท.จำเป็นต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะหนึ่งในปัญหาเร่งด่วน คือการไม่มีห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารผู้โดยสาร ซึ่งสร้างความไม่สะดวกอย่างมาก และอาจเป็นสาเหตุให้ผู้โดยสารหลีกเลี่ยงการใช้บริการในอนาคต ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ทอท.กำลังเร่งดำเนินการจัดสร้างห้องสูบบุหรี่ โดยจะเปิดให้บริการที่อาคาร Satellite (SAT-1) 6 จุด และอาคารผู้โดยสารหลัก 3 จุด ซึ่งจะทยอยเปิดนำร่องจุดแรกในต้นเดือน ส.ค.นี้