กพท.เร่งออกใบรับรองสนามบินสาธารณะ ‘นานาชาติ’ ครบ 10 แห่ง รับ ICAO ตรวจมาตรฐานช่วงสิ้นปีนี้ คาดอุตฯ การบินฟื้นตัวในปี 67-68

กพท.เตรียมออกใบรับรองสนามบินสาธารณะนานาชาติครบ 10 แห่งภายในกลางปี 66 รับ ICAO เข้ามาตรวจมาตรฐานความปลอดภัยช่วงสิ้นปีนี้ วางเป้าครบ 39 แห่งในปี 67 เผยเร่งออกใบรับรองฯ 3 สนามบินกระบี่บุรีรัมย์อุดรฯให้ ทอท.เข้าบริหารแทน ทย. ทันภายใน ..นี้ พร้อมคาดแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินหลังโควิด-19 กลับมาเติบโตอีกครั้งในปี 67-68

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ในปี 2566 กพท. ตั้งเป้าหมายออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ (Public Aerodrome Aerodrome Operating Certificate: PAOC) ให้แก่ท่าอากาศยานของไทย ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ และท่าอากาศยานภายในประเทศเพิ่มเติมอีก 8 แห่ง จากปัจจุบันมีท่าอากาศยานที่ได้รับใบรับรองฯ แล้ว 5 แห่ง รวมเป็นครบ 13 แห่งภายในกลางปี2566 ซึ่งจะทำให้ท่าอากาศยานนานาชาติได้ใบรับรองฯ ครบทั้ง 10 แห่ง เพื่อรองรับการตรวจมาตรฐานด้านความปลอดภัยขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และแสดงถึงความพร้อมของท่าอากาศยาน ตามที่กพท. จะเชิญให้ ICAO เข้ามาตรวจในช่วงปลายปี 2566


สำหรับออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ 8 แห่งในปี 2566 ได้แก่ ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานภูเก็ต, ท่าอากาศยานหาดใหญ่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี, ท่าอากาศยานกระบี่, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานอุดรธานี โดยมี 3 ท่าอากาศยาน คือ ท่าอากาศยานกระบี่, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานอุดรธานี ที่ กพท.ต้องเร่งออกใบรับรองฯ เนื่องจากเป็นท่าอากาศยานที่เตรียมให้ ทอท. เข้ามาบริหารจัดการแทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ซึ่งในเบื้องต้น ทอท.จะเริ่มเข้ามาบริหาร 3 ท่าอากาศยานดังกล่าว ในช่วง .. 2566

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันมีท่าอากาศยานที่ได้รับใบรับรองฯ แล้ว 5 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานเบตง, ท่าอากาศยานอู่ตะเภา, ท่าอากาศยานสมุย, ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานเชียงใหม่ ขณะที่ ท่าอากาศยานอีก 26 แห่งนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการออกใบรับรองฯ ในขั้นตอนต่างๆ คาดว่ากพท. จะสามารถออกใบรับรองฯ ให้ได้ครบภายในปี 2567 อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ต้องมีการออกใบรับรองฯเนื่องจากที่ผ่านมามีการแก้ไข และประกาศใช้ ...การเดินอากาศ ..2562 จึงทำให้ต้องออกใบรับรองฯ ใหม่เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับใหม่ และเป็นไปตามกระบวนการใหม่ตามมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ การออกใบรับรองฯ ดังกล่าว จะเป็นเครื่องยืนยันให้กับท่าอากาศยานทั้ง 39 แห่งของไทยว่า ได้มาตรฐานความปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการกำกับการดำเนินงานของท่าอากาศยานต่างๆ หากท่าอากาศยานใดปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือปล่อยปละละเลยในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ทาง กพท. จะสามารถเพิกถอน หรือพักใช้ใบรับรองฯ ได้ ซึ่งเป็นมาตรการที่ ICAO ต้องการให้หน่วยงานด้านการกำกับ มีเครื่องมือในการจะควบคุมการดำเนินงานท่าอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

*** อุตสาหกรรมการบินฟื้นตัวในปี 67-68 ***

นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับอุตสาหกรรมการบินมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นกลไกสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ถือเป็นรายได้หลักของประเทศ ทั้งยังก่อให้เกิดรายได้จากการบริโภค การจ้างงาน การค้า และการลงทุน

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการบินของของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี โดยเฉพาะในปี 2564 ที่มีจำนวนผู้โดยสารเพียง 20,926,173 คน คิดเป็น 35.92% จากสถิติของปี 2563 และจำนวนเที่ยวบินอยู่ที่ 257,948 เที่ยวบิน คิดเป็น 51.54% จากสถิติของปี 2563

ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบกับปี 2562 จำนวนผู้โดยสารในปี 2564 คิดเป็น 12.68% จากสถิติของปี 2562 และเที่ยวบินในปี 2564 คิดเป็น 24.16% จากสถิติของปี 2562 ตามลำดับ แต่เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ สถานการณ์ด้านการบินก็กลับมาดีขึ้น โดยในปี 2565 มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 75,815,455 คน และเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็น 570,360 เที่ยวบิน ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี โดยคาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารจากทั่วโลกจะฟื้นตัวและกลับมาเท่ากับปี 2562 ในช่วงปี 2567-2568

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า กพท.ได้จัดทำแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินปี 2565-2568 ภายใต้กรอบแนวคิดที่มุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมการบินสามารถอยู่รอด เข้มแข็ง และยั่งยืนโดยในปี 2566-2567 เป็นการดำเนินการในระยะกลาง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับและเพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมการบินภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี ของ กพท

สำหรับการดำเนินงานด้านการวิจัย พัฒนา และแนวทางการบริหารจัดการการใช้งานอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน(โดรน) โดยในปัจจุบันโดรนได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตหลากหลายด้าน และคาดการณ์บทบาทในอนาคตที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโดรนเพื่อความบันเทิง โดรนเพื่อกู้ภัย โดรนเพื่อการเกษตร โดรนเพื่อการขนส่ง เป็นต้น โดยเฉพาะโดรนเพื่อการเกษตร ที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 มีจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนเพียง 328 ลำและเพิ่มขึ้นเป็น 4,836 ลำในปี 2565 ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

ทั้งนี้ กพท. จึงได้จัดทำแผนแม่บทอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน เพื่อเป็นแผนหลักในการขับเคลื่อนระบบอากาศยาน ซึ่งไม่มีนักบินที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านห้วงอากาศ โครงสร้างพื้นฐานอากาศยาน สถาบันฝึกอบรม การซ่อมบำรุง เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและส่งเสริมให้กิจการอากาศยาน ซึ่งไม่มีนักบินในประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน

กพท. พร้อมเดินหน้าส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้มีศักยภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ให้เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนนายสุทธิพงษ์ กล่าว