วิชั่น ‘ดร.ชุมพล สายเชื้อ’ บนหมวกใบใหม่ นายกฯ TTLA

ภายหลังจากที่ได้รับตำแหน่งนายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทยหรือ TTLA ดร.ชุมพล สายเชื้อ ก็ไม่รอช้า เดินหน้าสานต่องานจากนายกฯ คนเก่า และผลักดันนโยบายใหม่ในการขับเคลื่อนภารกิจของสมาคมให้ถึงเป้าหมาย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาให้กับสมาชิกที่มีหลายเรื่องยังคาราคาซัง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความคล่องตัวในการประกอบกิจการ

คอลัมน์ “จับเข่าคุย” ฉบับนี้คุยกับ ดร.ชุมพล สายเชื้อ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทยในบทบาทการสวมหมวกใบใหม่ ซึ่งมีหลายเรื่องที่ต้องเดินหน้า ก่อนอื่น ดร.ชุมพล ยังคงให้ความสำคัญกับแนวนโยบายเดิมจากอดีตนายกสมาคมหลายท่าน และพร้อมที่จะสานต่อ นั้นคือ แนวทางการบริหารที่เน้นความเป็นกันเอง เพื่อให้สมาชิกมีความรู้สึกที่ดี มีความสุขในการร่วมกิจกรรมกับสมาคม ซึ่งตนมีกิจกรรมในการสร้างบรรยากาศหลายด้าน  ส่วนเรื่องที่ทำต่อเนื่องในการช่วยเหลือสมาชิกมีทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ เรื่องที่ 1 การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ของสมาชิก เช่น ปัญหาพื้นที่ขนส่งสินค้าที่ยังผิดกฎหมายผังเมืองและยังไม่มีทางออก, ปัญหาควันดำของรถขนส่ง ที่ห้ามใช้รถรุ่นเก่าเพราะเกรงว่าจะสร้างมลพิษเพิ่ม ถ้าจะให้ผู้ประกอบการซื้อรถใหม่ถือว่าเป็นเรื่องลำบากมาก, ปัญหาเรื่องการใช้ระบบจีพีเอส ที่ใช้เพียงแค่การตรวจสอบและควบคุมเพียงอย่างเดียว ไม่ได้สร้างความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างแท้ จริงเรื่องนีต้องมีการแก้ไข้, ปัญหาการแบกน้ำหนักของรถบรรทุก และเรื่องการเรียกจ่ายส่วยของตำรวจทางหลวงที่ยังแก้ไขไม่ได้ เป็นต้น เรื่องเหล่านี้ถือว่าเป็นปัญหาของผู้ประกอบการขนส่งมานาน

เรื่องที่ 2 คือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อช่วยสมาชิกให้มีความแข็งแกร่งในการต่อสู้กับต่างชาติที่รุกหนักมากขึ้น ซึ่งเขามีความพร้อมทั้ง ทางด้านเงินทุน เทคโนโลยี การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากรัฐบาลในการเชิญชวนมาลงทุน เรื่องนี้ถือว่าทำให้เอกชนไทยเสียเปรียบ  โดยรูปแบบช่วยเหลือสมาชิก ดร.ชุมพล นำเสนอ 2 แนวทาง ได้แก่ การเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย การเพิ่มรายได้ทำได้โดย สมาคมเป็นตัวกลางในการรับงานแล้วกระจายงานให้สมาชิก รวมทั้งการพัฒนาการให้บริการแบบใหม่ เช่น เรื่องการขนส่งสินค้าทางรถไฟในเส้นทางระยาว แล้วให้รถบรรทุกรับช่วงที่ต้นทางกับปลายทางการขยายธุรกิจสู่การให้บริการส่งด่วนหรือเอ็กซ์เพรส ถือว่าเป็นตลาดที่กำลังเติบโตสมาคมฯ ต้องพยายามให้สมาชิกเข้ามาให้บริการเอ็กซ์เพรสได้ ซึ่งปัจจุบันสมาชิกส่วนมากจะติดขัดเรื่อง แอฟพลิเคชั่น แพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งตนกำลังพัฒนาในนามบริษัทของตน ถ้าสำเร็จก็สามารถนำมาให้สมาชิกร่วมใช้กันได้

“ตลาดสมาชิกของสมาคมฯ จะเป็นผู้ขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลักเกือบ 100% การให้บริการรูปแบบ B2B ประมาณ 50% การขนส่งสินค้าโมเดิร์นเทรด 40% ส่วนขนส่งสินค้าอีคอมเมิร์ซมีประมาณ 4% ขณะที่กลุ่มอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตถึง 10% เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากที่เคยไปซื้อของจากห้างสรรพสินค้า แต่เริ่มมาสั่งทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้การซื้อสินค้าโมเดิร์นเทรดเริ่มลดลง แต่กลุ่มอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น ถ้าเรามีความพร้อมในการให้บริการตรงนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้เราไม่้สูญเสียลูกค้า เนื่องจากยังกุมตลาดได้ทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งนี้เรายังมีความพร้อมมากกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโกดังสินค้า รถสำหรับการขนส่งและพนักงาน แต่จะทำอย่างไรให้สามารถส่งของถึงบ้านคนแต่ละบ้าน หากทำเรื่องนี้ได้ก็สามารถรับงานของกลุมอีคอมเมิร์ซได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้หลายคนมองว่าตลาดตรงนี้เป็นตลาดเล็ก จุกจิก วุ่นวาย ไม่คุ้มต่อการขนส่ง แต่ลืมคิดไปว่ามันคือตลาดที่กำลังโต และถ้ามีปริมาณที่มากขึ้นก็สร้างรายได้ได้มากขึ้นเช่นกัน ยกตัวอย่างที่ต่างประเทศตลาดนี้โตแทนตลาดเก่าหมดแล้ว แต่ในเมืองไทยกำลังเปลี่ยน ถึงจุดหนึ่งเมื่อลูกค้าน้อยลงโมเดิร์นเทรดน้อยลง แล้วคิดจะมาทำ คงทำไม่ทันเพราะคนอื่นเขาแบ่งตลาดไปหมดแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ผมพยายามให้ข้อมูลในการสร้างตลาดใหม่แก่สมาชิก” ดร.ชุมพล กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีโครงการบริหารการจัดซื้อระหว่างผู้ประกอบการขนส่งและซัพพลายเออร์ต่างๆ ที่ต้องซื้อของและส่งของอยู่แล้ว อาจจะทำมีแพลตฟอร์ม แอฟพลิเคชั่นหรือมาเก็ตเพลสขึ้นมา ซึ่งผู้ซื้อผู้ขายสามารถลดต้นทุนได้ ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน ส่วนเรื่องที่ 3. ที่ไม่สามารถมองข้ามได้คือการเติบโตอย่างยืนในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ ดร.ชุมพล กล่าวว่า จะเน้นกิจกรรมและโครงการที่เกี่ยวข้องเรื่องพัฒนาคุณภาพยกระดับมาตรฐานความเป็นมืออาชีพ ซึ่งที่ผ่านมาได้พัฒนาสมาชิกและขณะนี้กำลังมีแนวคิดในการตั้งโรงเรียนสอนการขับรถ คาดว่าสามารถเป็นรูปร่างได้ภายใน 1-2 ปี

“สำหรับปัญหาสุดฮิตและเป็นแพะขนส่งตลอดเวลา คือปัญหาเรื่องควันดำ ที่ผ่านมาถ้ามีปัญหาจะเสียค่าปรับ 1,000 บาท แต่ขณะนี้ปรับสูงถึง 5,000 บาท และห้ามใช้รถ ซึ่งผู้ขนส่งก็ต้องนำรถไฟฟิดเครื่องใหม่และยื่นเรื่องให้เข้ามาให้ตรวจสอบว่าสามารถใช้งานได้แล้ว แต่กว่าจะนำมาวิ่งได้ก็เสียเวลาเป็นเดือน ส่วนการเปลี่ยนมาใช้นำมัน บี 20 ที่มีการนำเสนอกัน ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ว่าเปลี่ยน แล้วจะแก้ปัญหาที่แท้จริงหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบก่อนที่จะมีกฎระเบียบออกมา”

ท้ายที่สุด นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ได้ฝากความหวังไว้ที่รัฐบาล
ชุดใหม่ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในเร็ววันนี้ว่า ขอให้เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้กำหนดนโยบายด้านขนส่งมาเป็นผู้สนับสนุนจะดีกว่า เพราะกลุ่มวิชาชีพจะรู้ดีว่าต้องการอะไรและแก้ไขปัญหาอย่างไร ดังนั้นเรื่องที่เราผลักดันกันมาตลอดคือการจัดตั้งสภาการขนส่งแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นองค์กรกลางในการดูแลเรื่องขนส่ง และทำหน้าที่ประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชน ถือว่าเป็นการปลดล๊อคขนส่งไทยให้มีความแข็งแกร่ง!!