‘พีรพงศ์’ แม่ทัพใหญ่กองทุนบัวหลวง ประกาศการลงทุนปี 62 บนสายพานโลจิสติกส์

กองทุนบัวหลวง ประกาศธีมการลงทุนปี 2562 “รุ่งเรืองด้วยโครงสร้างพื้นฐาน บนสายพานของ โลจิสติกส์” ต่อยอดจากธีมการลงทุนในปีก่อน ย้ำจุดยืนลงทุนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่งที่ได้รับประโยชน์เด่นชัดนับจากนี้ไป จากปัจจัยเกื้อหนุน ทั้งการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ การเติบโตของ อี-คอมเมิร์ซ และการขยายตัวของเมือง

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) เปิดเผยว่า ในทุกๆ ปี กองทุนบัวหลวงจะกำหนดธีมการลงทุนเพื่อใช้ในการสื่อสารกับผู้ลงทุน ให้ได้รับทราบถึงแนวคิด โอกาส และความเสี่ยงที่จะมีผลต่อการลงทุนในอนาคต สำหรับธีมการลงทุนในปี 2562 คือ “รุ่งเรืองด้วยโครงสร้างพื้นฐาน บนสายพานของ โลจิสติกส์” (Logistics and Infrastructure Solutions) ซึ่งเป็นการต่อยอดจากธีมการลงทุนของปีที่ผ่านมา ที่ว่า “ตลอดสายซัพพลายเชน ตามเทรนด์อีคอมเมิร์ซ และยานยนต์ไฟฟ้า” 

สำหรับปี 2562 กองทุนบัวหลวงมองว่า อุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์เด่นชัด นับจากนี้ไป คือ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลัก ได้แก่ ประการแรก ประเทศไทยกำลังก้าวสู่วัฏจักรการลงทุนครั้งใหญ่ ทั้งแผนการลงทุนระบบราง ระบบถนน และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)เพื่อเป็นโครงสร้างขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว เนื่องจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ก็เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเช่นกัน ประเทศไทยเองจึงจำเป็นต้องเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อรักษาความได้เปรียบจากทำเลที่ตั้งที่ดี ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ

นอกจากนี้ บทบาทที่เพิ่มขึ้นของประเทศจีนที่มีต่อภูมิภาคอาเซียน ก็เป็นแรงผลักดันที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรองรับทั้งในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวของประเทศ ขณะเดียวกัน ระบบคมนาคม ขนส่งที่ดีขึ้น ไม่เพียงจะก่อให้เกิดโอกาสอันดีกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์และการขนส่งต่างๆ แต่ยังจะช่วยเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมการผลิตในรูปแบบเดิม และช่วยดึงซัพพลายเชนใหม่จากต่างชาติให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ประการที่ 2 คือ การเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ (E-Commerce) ในไทย ด้วยยอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่โดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน จากการที่คนในทุกช่วงวัยนิยมซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้มูลค่าตลาดและฐานจำนวนผู้ซื้อขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่า ฐานลูกค้ากลุ่มนี้ยังกระจุกตัวในเขตเมืองเป็นหลัก แต่การที่ผู้ประกอบการของไทย ที่ดำเนินธุรกิจซื้อขายกับผู้บริโภค (B2C: Business to Customer) เริ่มหันมาทำตลาดระบบนี้กันมากขึ้น จะส่งผลให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทยจะกลายเป็นตลาดคู่ขนานไปกับการขายแบบหน้าร้านในอนาคตอันใกล้นี้ ด้วยเหตุนี้ ระบบการจัดส่งสินค้าในปัจจุบัน จึงไม่สามารถรองรับความต้องการได้เพียงพอ ซึ่งจะเห็นได้จากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการขนส่ง เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตได้อีกมากนับจากนี้ไป ดังนั้น การพัฒนาระบบขนส่งสินค้าให้รวดเร็ว ครอบคลุมยิ่งขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่จะช่วยลดต้นทุนในการจัดส่ง ทั้งยังจะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) รวมถึงในชนบท สามารถเข้าถึงตลาดออนไลน์ได้มากขึ้น อันจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้
อีกทางหนึ่ง 

ประการที่ 3 คือ การขยายตัวเพิ่มขึ้นของเมือง จึงจำเป็นต้องมีระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพรองรับ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความหนาแน่นของประชากรมาก เฉลี่ยสูงถึง 10,000 คนต่อตารางกิโลเมตร ตลอดจนจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทุกปี จากผู้อยู่อาศัยผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นเมืองที่รถติดอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น การขยายโครงข่ายการเดินทางมวลชนต่อจากนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าบนดิน รถไฟฟ้าใต้ดิน และทางด่วน ที่กำลังทยอยก่อสร้าง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคมนาคมขนส่งในเมือง ระหว่างเมือง และกระจายความเจริญออกไปนอกเมืองได้มากขึ้น ธุรกิจให้บริการขนส่งสาธารณะก็จะมีขอบเขตในการให้บริการและฐานผู้ใช้ที่มากขึ้น รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ โลจิสติกส์ โฆษณา หรืออสังหาริมทรัพย์ ก็จะได้รับผลประโยชน์ตามไปด้วย

“ต้นทุนด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง นับเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเจริญเติบโตของประเทศ ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยพยายามลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่อจีดีพีลงมาโดยตลอด แต่ทว่า การพัฒนาส่วนใหญ่ก็ยังเป็นไปในรูปแบบถนน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว ที่ใช้ระบบรางในการขนส่งเป็นหลัก พบว่า มีต้นทุนขนส่งต่อจีดีพีต่ำกว่าเรามาก ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและจะเป็นตัวปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ในการประกอบกิจการ การพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบท โดยกองทุนบัวหลวงมองว่า ธุรกิจที่สามารถปรับตัวและนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงนี้ จะสามารถเติบโตและสร้างผลตอบแทนที่ดีในการลงทุนได้”