ดีเดย์! 1 ต.ค.นี้ ใช้รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายครบทุกเส้นทาง รวมกว่า 276.84 กม.

“สุริยะ” เผย ครม. ไฟเขียว “นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” เฟส 2 รวม 8 สาย 13 เส้นทาง ระยะทาง 276.84 กม. เล็งเปิดลงทะเบียนผ่านแอป “ทางรัฐ” ให้รับสิทธิ์ ส.ค.นี้ เริ่มประกาศใช้ 1 ต.ค. 68

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 ก.ค. 2568 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท (20 บาทตลอดสาย) ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อต้องการลดราคาค่าพลังงาน และสาธารณูปโภค พร้อมกับผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ รวมถึงลดภาระค่าเดินทาง โดยมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย จะครอบคลุมโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 8 สาย รวม 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 276.84 กิโลเมตร (กม.) ทั้งสิ้น 194 สถานี ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว มีกรอบระยะเวลาการดำเนินมาตรการ 1 ปี โดยจะเริ่มมาตรการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2568 – 30 ก.ย. 2569 หรือตามมติ ครม.

สำหรับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น จัดอยู่ในนโยบายเร่งด่วน ที่จะดำเนินการทันที เพื่อให้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสามารถครอบคลุมโครงข่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมั่นใจว่า ปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน เนื่องด้วยผู้ให้บริการรถไฟฟ้าในปัจจุบันมีรูปแบบสัญญาสัมปทานและสัญญาจ้างเดินรถที่มีข้อกำหนดหรือเงื่อนไขทางธุรกิจแตกต่างกัน จึงได้กำหนดให้ประชาชนลงทะเบียนตามเงื่อนไขที่กำหนดบนแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” เพื่อรองรับการใช้งานตามโนบาย

โดยเงื่อนไขการลงทะเบียนนั้น จะต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย โดยระบุเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก บัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรโดยสาร (Rabbit Card ที่ลงทะเบียน) ที่จะใช้งานกับระบบรถไฟฟ้า ผ่านแอปฯ “ทางรัฐ” ในช่วง ส.ค. 2568 ทั้งนี้ บัตรที่ได้รับการยืนยันการลงทะเบียนจะได้สิทธิโดยอัตโนมัติ เมื่อใช้งานหลังจากเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2568 ครอบคลุมทั้งโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประกอบไปด้วย การใช้บริการรูปแบบบัตร Rabbit Card ในรถไฟฟ้าสายสีเขียว, สีทอง, สีเหลือง, สีชมพู และบัตร EMV Contactless (Visa/Mastercard) ในสีน้ำเงิน, สีม่วง, สีชมพู, สีเหลือง, สีแดง และแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL) คาดว่า ในอนาคตจะมีการเปิดระบบสแกน QR Code ในมือถือแทนการใช้บัตร เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน

สำหรับแนวทางการชดเชยรายได้ค่าโดยสารจากการดำเนินมาตรการ จะมาจากกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม หรือแหล่งเงินอื่นที่เหมาะสม ทั้งนี้ยังได้ประมาณการผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวในช่วง 1 ปี ในเชิงปริมาณและมูลค่าจากจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าที่ได้รับผลประโยชน์ จะประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านเศรษฐกิจ ประเมินจากการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถ 7,360.43 ล้านบาท 2. ด้านสังคม ประเมินจากค่าความสุข และ การลดมูลค่าความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ 2,612.02 ล้านบาท และ 3. ด้านสิ่งแวดล้อม ประเมินจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 77.28 ล้านบาท รวม ทั้ง 3 ด้านประเมินเป็นประโยชน์ในงบประมาณ 2569 รวม 10,049.73 ล้านบาท

“มาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย จะเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะ ลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน ช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณะของรัฐเพื่อเดินทางถึงปลายทางด้วยระบบรถไฟฟ้า ที่มีความปลอดภัย สะดวก ตรงเวลา และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในราคาค่าโดยสารที่เข้าถึงได้ตามนโยบายของรัฐบาล เกิดการใช้ความจุของโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเกิดความคุ้มค่าจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง ลดความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ และเพิ่มมูลค่าความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นส่วนสนับสนุนการลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน ลดปัญหาการจราจรติดขัด และลดการใช้พลังงานน้ำมันลดปริมาณมลพิษจากการจราจร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมให้คุณภาพอากาศในพื้นที่ตามแนวสายทางและข้างเคียงให้ดีขึ้น” นายสุริยะ กล่าว