‘คมนาคม’ ตั้งโต๊ะถกหาแนวทางแก้ไขปัญหาขนส่งตู้สินค้า 40 ฟุต-การขออนุญาตใช้รถขนาดใหญ่

“คมนาคม” ถกหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งตู้สินค้า ประเภท 40 ฟุต พ่วงการขออนุญาตใช้รถเฉพาะกิจขนาดใหญ่ หลังนอกเหนือประกาศผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษ-ทางหลวงแผ่นดิน-ทางหลวงสัมปทาน พร้อมตั้งธงรายงาน “ศักดิ์สยาม” ภายใน ก.ย. นี้

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งตู้สินค้า ประเภท 40 ฟุต (High Cube) และการขออนุญาตใช้รถเฉพาะกิจขนาดใหญ่ (Oversize Vehicle) ซึ่งมีลักษณะนอกเหนือจากประกาศผู้อำนวยการทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน ครั้งที่ 1/2562 ว่า ที่ประชุมฯ ได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานฯ ข้อมูลสถิติการบรรทุกตู้สินค้าฯ จากการท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท. และสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย พบสถิติจำนวนตู้สินค้าที่ผ่านท่าเรือกรุงเทพฯ ช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม 2561 จำนวน 1,062,242 ตู้ แบ่งเป็นตู้สินค้าฯ จำนวน 374,273 ตู้ หรือ 35.23% ของจำนวนตู้สินค้าที่ผ่านท่าเรือกรุงเทพฯ ทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังรวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งตู้สินค้าฯ อาทิ กฎกระทรวงฉบับที่ 60 (พ.ศ.2552) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 และกฎกระทรวงฉบับที่ 19 (พ.ศ.2550) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำหนดความสูงของรถบรรทุก นอกจากนี้ได้รับทราบเกี่ยวกับการขออนุญาตใช้รถเฉพาะกิจฯ การพิจารณาประเด็นปัญหาและแนวทางการแก้ไขเกี่ยวกับการขนส่งตู้สินค้าฯ และการขออนุญาตใช้รถเฉพาะกิจฯ

ทั้งนี้ สหพันธ์การขนส่งฯ เสนอให้มีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับความสูงการบรรทุกตู้สินค้าฯ เนื่องจากเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมในการใช้ขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักเบา เพราะมีความจุมากกว่าประเภท 40 ฟุต ขนาดปกติ หากภาครัฐผลักดันให้การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ประเภทดังกล่าวไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย จะช่วยสนับสนุนการค้า การลงทุน และส่งผลต่อการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยขอให้แก้ไขความสูงของรถบรรทุกตู้สำหรับบรรจุสิ่งของจาก 4.2 เมตร เป็น 4.6 เมตร ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว ส่วนการขออนุญาตขนส่งสินค้าและวัสดุของรถเฉพาะกิจฯ ประสบปัญหา เช่น ขออนุญาตเพื่อใช้งานมีระยะเวลาค่อนข้างนาน และติดขัดข้อกฎหมายเกี่ยวกับลักษณะของรถ เป็นต้น

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า ได้สั่งการให้คณะทำงานฯ ตรวจสอบข้อมูลสถิติการขนส่งตู้สินค้าประเภทดังกล่าวให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แน่ชัดว่ามีรถบรรทุกตู้สินค้าฯ ที่ผ่านเส้นทางหลวง ทางหลวงชนบท ปริมาณเท่าไร รวมถึงเปรียบเทียบสถิติในแต่ละปี เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงตามที่สหพันธ์ขนส่งฯ ร้องขอและป้องกันผลกระทบด้านต่างๆ กรณีที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกตู้สินค้าฯ เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกัน ยังได้สั่งการให้กรมทางหลวง หรือ ทล. และกรมทางหลวงชนบท หรือ ทช. รวบรวมสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากรถบรรทุกว่ามีรถประเภทดังกล่าวหรือไม่ และขอให้ทางสหพันธ์ขนส่งฯ ดูแลควบคุมความปลอดภัยในการขนส่งสินค้าของสมาชิกสหพันธ์ฯ

นอกจากนี้ ให้คณะทำงานฯ รวบรวมข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รูปแบบที่ภาครัฐสามารถตรวจสอบน้ำหนักของรถดังกล่าว ความเร็วในการขับรถที่เหมาะสม เส้นทางที่สามารถวิ่งรถได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพเส้นทาง การพัฒนาบุคลากรผู้ขับรถ และการออกใบอนุญาตขับขี่เป็นการเฉพาะสำหรับผู้ขับรถประเภทดังกล่าว โดยต้องคำนึงความปลอดภัยของสาธารณชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ต้องรายงานผลการดำเนินงานให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบภายใน ก.ย. 2562