‘คมนาคม’ จ่อชง ครม. เคาะ ‘บ้านเพื่อคนไทย’ ต.ค.นี้ เตรียมจับสลากลุ้นสิทธิ์ 1.3 แสนราย พ.ย.68 เข้าอยู่ปลายปี 69

“คมนาคม” จ่อชง ครม. ไฟเขียวโครงการ “บ้านเพื่อคนไทย” ต.ค.นี้ ด้าน อทส. ผนึกกำลัง “กองสลากฯ” เตรียมจับสลากผู้ลงทะเบียนผ่านเกณฑ์จาก ธอส. กว่า 1.3 แสนราย ภายใน พ.ย. 68 ยันโปร่งใส-ยุติธรรม ประเดิมเฟสแรก 5 พันยูนิต มูลค่าก่อสร้าง 6-7 พันล้าน คาดเปิดให้เข้าอยู่ปลายปี 69

นายสุรพงษ์  ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจับสลาก เพื่อหาผู้ได้รับสิทธิโครงการบ้านเพื่อคนไทย ระหว่างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กับบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (อทส.) เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2568 ว่า กระทรวงคมนาคมได้ประสานงานกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการจับสลาก เพื่อให้กระบวนการคัดเลือกเป็นไปอย่างโปร่งใส และยุติธรรม

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของโครงการบ้านเพื่อคนไทยนั้น ภายหลังเปิดรับสมัครลงทะเบียนตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ม.ค. – 11 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการมากกว่า 260,000 คน โดยมีผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น (Pre-approve) จากธนาคารอาคารสงเคราะห์แล้วกว่า 130,000 คน ซึ่งเกินกว่าจำนวนที่อยู่อาศัยในระยะที่ 1 ที่กำหนดเปิดจับสลาก จำนวน 5,000 ยูนิต รวม 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.กม.11 รูปแบบคอนโด 26 ชั้น 2.สถานีธนบุรี รูปแบบคอนโด 8 ชั้น 3.เชียงราก รูปแบบคอนโด 8 ชั้น และ 4.เชียงใหม่  รูปแบบคอนโด 8 ชั้น กับบ้านเดี่ยว 24 หลัง ซึ่งทำให้จำเป็นต้องมีการจับฉลากเพื่อคัดเลือกผู้มีสิทธิ์

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนกระบวนการหลังจากนี้ อทส. จะดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างออกแบบรายละเอียด จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) พร้อมทั้งจัดร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) คาดว่า จะได้ตัวผู้รับจ้างภายในช่วงปลาย มิ.ย.นี้ โดยคาดว่า จะเสนอโครงการไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติภายใน ต.ค. 2568 ก่อนจะเริ่มดำเนินการจับสลากเฟสแรกได้ประมาณ พ.ย. 2568 และเริ่มจะก่อสร้างทันที โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 6-7 พันล้านบาท ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะเปิดให้เข้าพักอาศัยได้ในช่วงปลายปี 2569

ขณะที่โครงการบ้านเพื่อคนไทย เฟส 2 และ 3 จะดำเนินการต่อเนื่องจากเฟสแรกต่อไป ขณะที่ ผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์จากการจับสลากในเฟสแรก จะยังคงมีสิทธิ์อยู่ในระบบ เพื่อเข้าร่วมในโครงการเฟสที่ 2 และ 3 ต่อไป ทั้งนี้ รูปแบบและขั้นตอนการจับสลากจะถูกออกแบบร่วมกันระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะเจ้าของที่ดิน อทส. ซึ่งเป็นหน่วยงานดำเนินโครงการ และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อยืนยันถึงกระบวนการที่มีความโปร่งใส

สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านการเงินนั้น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ยืนยันถึงความพร้อมในการสนับสนุนสินเชื่อสำหรับโครงการนี้อย่างเต็มที่ ทั้งในส่วนของสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ และสินเชื่อสำหรับผู้ซื้อหรือผู้เช่า โดยมีวงเงินที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด คาดว่า วงเงินสินเชื่อที่เตรียมไว้ ธอส. มีสภาพคล่องเพียงพอ และมีความแข็งแกร่งทางการเงิน

ด้านพันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า เบื้องต้นรูปแบบการจับสลาก อาจจะใช้วิธีการเช่นเดียวกันกับการคัดเลือกตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล คือ การสุ่มรายชื่อด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งมีความแม่นยำ และโปร่งใส โดยจะให้ตัวแทนเป็นผู้กดปุ่ม ส่วนจะใช้การจับสลากแบบการออกสลากฯ หรือหมุนวงล้อหรือไม่นั้น จะต้องหารือกันอีกครั้ง แต่คาดว่า จะได้ข้อสรุปก่อนเสนอ ครม. อย่างแน่นอน