ตร.จ่อคลอดเพิ่มโทษ ‘เมาแล้วขับ’ฟาก ขบ.ลุ้นชง พ.ร.บ.ขนส่งใหม่

พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการกองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างนำกฎหมายจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีการควบคุมในการกระทำความผิดเรื่องของการดื่มแล้วขับ 3 ข้อ คือ 1. เจ้าของรถที่ให้ยืมต้องรับผิดด้วย 2. ร้านที่จำหน่ายเครื่องดื่ม ให้ผู้ขับขี่ที่ดื่มแล้วขับต้องมีส่วนร่วมในกระทำผิดด้วย และ 3. ผู้โดยสารที่อยู่ในรถไม่ห้ามปราม หรือส่งเสริมให้คนขับดื่มแอลกอฮอล์ ต้องร่วมรับผิดด้วย ซึ่งทั้ง 3 ข้อดังกล่าว ประเทศไทยยังไม่ได้มีกฎหมายมาบังคับใช้
สำหรับกฎหมายดังกล่าว จะถูกยกร่างโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จราจรทางบก ซึ่งคาดว่าจะเสนอได้ในรัฐบาลชุดใหม่ และต้องดูว่ารัฐบาลเห็นด้วยหรือไม่ เมื่อเห็นด้วยก็จะเล่นเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ ก่อนเสนอไปที่สภาพัฒน์ เนื่องจากเป็นคณะกรรมการพิเศษที่ตั้งโดยรัฐบาล จึงได้มอบหมายให้สภาพัฒน์ตั้งเรื่องและเป็นผู้เสนอ เข้า ครม. จากนั้นส่งไปที่กฤษฎีกาและเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
“ข้อดีของกฎหมายใหม่นี้ ถ้าเกิดขบวนการทางกฎหมายที่เข้มแข็งและทำให้พลเมืองยอมรับปฏิบัติตามการทำผิดจะลดลง เชื่อมั่นว่ากฎหมายที่ออกมาจะสำเร็จ เนื่องจากที่ญี่ปุ่นก็ทำแล้วเกิดความสำเร็จและทั้งหมดทั้งมวล เราได้ศึกษาจากความสำเร็จกฎหมายจากประเทศญี่ปุ่นและมั่นใจว่าหากนำมาใช้แล้วจะประสบผลสำเร็จ โดยกฎหมายใหม่นี้ จะเห็นได้ภายในปีนี้แน่นอน” พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าว
ด้านนายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก หรือ ขบ. เปิดเผยว่าความคืบหน้าเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. … ซึ่งเป็นการควบรวมพระราชบัญญัติหรือ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เข้าไว้ด้วยกันนั้น ล่าสุดนั้นฝ่ายนโยบายและคณะอัยการได้ส่งตัวร่าง พ.ร.บ.ฯ มาที่ ขบ.เพื่อจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม ดังนั้น จึงคาดว่าจะเสนอไม่ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากไม่มีเวลามากพอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ดำเนินการออกกฎหมายส่งผลให้ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาพิจารณาต่อไป
สำหรับรายละเอียดที่ถูกส่งให้มาทบทวนนั้นมีหลายด้าน เน้นไปที่ความทันสมัยของกฎหมาย เช่น การเพิ่มบทลงโทษวินัยจราจร ขยายความผิดไปยังผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ การควบรวมทุกประเภทบังคับใช้กฎหมายเดียวกันและเรื่องรถป้ายแดง รวมถึงการรวมระบบใบขับขี่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และการออกใบรับรองพิเศษแยกประเภทเพื่อใช้คู่กับใบขับขี่คล้ายโมเดลในประเทศยุโรป อาทิ รถบรรทุกน้ำมันหรือรถสาธารณะ
ทั้งนี้ หนึ่งในการปรับเปลี่ยนกฎหมายให้ทันสมัยนั้น คือ การคุ้มครองผู้บริโภคและปกป้องประชาชนในกรณีเรื่องการซื้อรถยนต์คันใหม่ หากพบว่าสินค้าไม่เป็นไปตามข้อเสนอของเอกชน จะมีกฎหมายบังคับใช้ต่างๆ เพื่อเอาผิดบริษัทผู้ผลิตรถ เช่น การสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายเต็มราคา และการเรียกคืนสินค้า (Recall) เพื่อเปลี่ยนคันใหม่ให้ ตลอดจนการชดใช้ค่าเสียหายทั่วไป ซึ่งปัจจุบันกฎหมายของประเทศไทยมีบังคับใช้ไม่มากพอ ดังนั้นการพัฒนากฎหมายดังกล่าวจะทำให้มีมาตรฐานสากลมากขึ้นเพราะเป็นกฎหมายแนวทางเดียวกันกับในต่างประเทศ