ส่องแผนเจรจาการค้า’62 “อรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดแผนการเจรจาการค้าปี 2562 พร้อมผลักดันการค้าไทยเติบโตก้าวไกลในปีหมูทองอย่างเต็มที่ มุ่งเน้นการขยายความร่วมมือทางการค้าในรูปแบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงเศรษฐกิจของอาเซียนและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศให้พร้อมสำหรับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจในภูมิภาคและเดินหน้าสู่เวทีการค้าโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยแผนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทยปี 2562 ขานรับนโยบายรัฐบาลมุ่งเน้นเปิดประตูการค้าและพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้าในลักษณะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic partnership) รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียน ความเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจในภูมิภาคและเวทีการค้าโลก โดยในปี 2562 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีแผนงานสำคัญ ดังนี้

  1. แผนงานด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
  • การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมและประธานการประชุมด้านเศรษฐกิจของอาเซียน สืบเนื่องจากที่ไทยได้รับไม้ต่อการเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้รับมอบให้เป็นหน่วยประสานงานหลักในด้านเศรษฐกิจ จะรับผิดชอบจัดการประชุมด้านเศรษฐกิจของอาเซียน 9 ครั้ง ในปี 2562 อาทิ การประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งเป็นการประชุมระดับรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน การประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน เป็นต้น
  • ผลักดันให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP หาข้อสรุปได้ในปี 2562 ตามที่ผู้นำสมาชิก RCEP 16 ประเทศตั้งเป้าไว้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงสุดท้ายของการเจรจาแล้ว ไทยในฐานะประธานอาเซียน จึงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การเจรจาปิดรอบได้ในปี 2562 โดย RCEP ถือเป็นกลุ่มภูมิภาคที่มีความสำคัญเนื่องจากมี GDP รวมกันกว่า 25.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 31 ของโลก มีประชากรกว่า 3,560 ล้านคน มูลค่าการค้ารวมสูงถึง 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 29 ของการค้าโลก
  • เร่งสรุปการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีที่ไทยอยู่ระหว่างเจรจา ให้หาข้อสรุปและปิดรอบได้ภายในปี 2563 คือ การเจรจาเอฟทีเอไทย-ตุรกี ไทย-ศรีลังกา และไทย-ปากีสถาน
  • เตรียมการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ซึ่งมีสมาชิก 11ประเทศ ที่มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน มี GDP รวมมูลค่า 10.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีมูลค่าการค้ารวมกับไทย134.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 3 ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก
  • เตรียมการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป และ ไทย-เอฟตา (EFTA) หากผู้ที่เกี่ยวข้องของทั้งไทย สหภาพยุโรปหรือเอฟตามีความพร้อม
  • มีส่วนร่วมในการเสนอแนวคิดและดำเนินการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อให้การทำงานของ WTO เช่น การปรับปรุงความโปร่งใส การปรับปรุงกลไกการระงับข้อพิพาททางการค้าที่อาจหยุดชะงักลงเพราะตำแหน่งว่างในองค์กรอุทธรณ์เดินหน้าต่อไปได้
  • ประชุมหารือทวิภาคีและส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้า เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และขยายมูลค่าการค้าการลงทุนให้บรรลุเป้าหมาย
  • เจรจาแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่เกิดขึ้น เช่น หาทางออกในกรณีการตรวจเข้มรถยนต์นำเข้าจากเวียดนาม เป็นต้น
  1. แผนงานด้านการสร้างความรู้และเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดตลาดการค้าเสรี บูรณาการร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่อง FTA ประโยชน์และผลกระทบของ FTA ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้
  • จัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องโอกาสของการค้าเสรีให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น สงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี ลงพื้นที่แนะนำผู้ประกอบการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สามารถขยายตลาดและการส่งออกสู่ต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอของไทย
  • ร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติจัดสัมมนาฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทยในยุคการค้าเสรี โดยมีแผนลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ เช่น ปราจีนบุรี สินค้าสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ พิษณุโลก สินค้ามะม่วง กล้วย และกาแฟ สงขลา สินค้ามังคุด เงาะ ลองกอง และผลไม้อบแห้ง ศรีสะเกษ สินค้าทุเรียน เงาะ และสมุนไพร และแม่ฮ่องสอน สินค้า ชา กาแฟ สมุนไพร ธัญพืช เป็นต้น
  • จัดสัมมนาร่วมกับสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ให้กับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องแสวงประโยชน์จากการค้าเสรีและความตกลงเอฟทีเอของไทยกับประเทศต่างๆ
  • จัดประกวด DTN Business Plan Award 2019 “เขียนแผนธุรกิจ เพื่อบุกตลาดจีนด้วยเอฟทีเอ”
  • จัดประชุมสัมมนา รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมการหากไทยจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP