ประเดิม! วิ่ง ‘มินิบัสไฟฟ้า’ Feeder เชื่อม 2 สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง ‘รังสิต & บางบำหรุ’ 28 ก.ค.นี้ รับ-ส่ง ปชช.ในระยะรัศมี 3 กม.
สนข.เทงบ 20 ล้าน ศึกษาระบบ Feeder รับโครงข่ายรถไฟฟ้า นำร่องเส้นทางเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง วิ่งรถมินิบัสไฟฟ้ารับ–ส่ง ระยะรัศมี 3 กม. ช่วงทดลองเปิดให้บริการ 28 ก.ค.นี้ เล็งประเดิม 2 สถานี “รังสิต & บางบำหรุ” ก่อนขยายครบลูป พ.ย. 64 พร้อมลุยเส้นทางอื่น “เหลือง–ชมพู–ส้ม” คาดผลการศึกษาครบลูปเต็มระบบ แล้วเสร็จ มี.ค. 65
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในพิธีเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) ภายใต้การศึกษาโครงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทาง เข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล วันนี้ (24 มี.ค. 2564) ว่า จากข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลอย่างเป็นระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางให้กับประชาชนนั้น กระทรวงคมนาคมจึงได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยเฉพาะการผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น และสร้างโครงข่ายให้สมบูรณ์และครอบคลุม เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา และราคาเหมาะสม
ทั้งนี้ จำเป็นต้องพัฒนาระบบการเชื่อมต่อการเดินทาง เพื่อให้ผู้สัญจรเข้าถึงระบบรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก ทำให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน จึงมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาโครงการดังกล่าว เพื่อรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะสำหรับการจัดทำแผนการพัฒนาการเชื่อมต่อการเดินทาง หรือ Feeder และแผนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานบริเวณรอบสถานีรถไฟฟ้า เพื่อให้การเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้า สนามบิน และระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นๆ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ด้านนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า สนข. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา (บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด) ดำเนินโครงการศึกษาการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทางเพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยใช้งบประมาณในการศึกษาฯ วงเงิน 20 ล้านบาท ระยะเวลาการศึกษา 18 เดือนซึ่งได้เริ่มดำเนินการศึกษาฯ ตั้งแต่ ก.ย. 2563-มี.ค. 2565
สำหรับโครงการศึกษาดังกล่าว เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ให้สามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้า รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะรถไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล โดยในเบื้องต้นจะจัดทำแผนระบบการขนส่งรองเชื่อมระบบขนส่งหลัก (Fedder) ในเส้นทางที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 9 เส้นทาง ระยะทาง 170.38 กิโลเมตร (กม.) และโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 6 โครงการ ระยะทาง 150.76 กม. เช่น รถไฟฟ้าสายสีเหลือง สายสีชมพูสายสีส้ม เป็นต้น โดยในเบื้องต้น จะนำร่องกับโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ–รังสิต และบางซื่อ–ตลิ่งชัน ที่จะเปิดทดลองให้บริการประชาชนในวันที่ 28 ก.ค. นี้ และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ พ.ย. 2564
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจในโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ของที่ปรึกษาโครงการ และเจ้าหน้าที่ สนข. ได้ออกแบบระบบ Feeder ในระยะรัศมี 3 กม. ในสถานีหลักที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบสถานีต่างๆ มีระบบโดยสารสาธารณะที่จะเดินทางสู่สถานีรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและมีราคาเหมาะสม พร้อมกันนี้ ที่ปรึกษาของโครงการ จะทำการสำรวจอละออกแบบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยรอบสถานี เช่น ทางเดินเท้า Skywalk หลังคาคลุมกันแดดกันฝน จุดจอดรถโดยสารสาธารณะ จุดจอดและจรสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล เป็นต้น อีกทั้ง จะมีการจัดทำแอปพลิเคชั่น เพื่อให้ข้อมูลการให้บริการขนส่งสาธารณะในระบบFeeder ให้ประชาชนได้รับทราบด้วย
นายปัญญา กล่าวต่ออีกว่า จากผลการศึกษาฯ นั้น ระบุว่า เส้นทาง Feeder ที่จะดำเนินการนำร่อง เพื่อเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงในช่วงเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.นี้ จำนวน 2 สถานี เนื่องจากมีศักยภาพ และมีความเหมาะสม รวมถึงมีประชาชนเดินทางเป็นจำนวนมาก โดยจะนำรถมินิบัสไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการได้แก่ 1.สถานีรังสิต จำนวน 6 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางเลียบคลองเปรม–รังสิต (วนซ้าย), เส้นทางเลียบคลองเปรม–รังสิต (วนขวา), เส้นทางพหลโยธิน 87-สถานีรังสิต, เส้นทางสถานีรถไฟฟ้าหลักหก–แยกบางพูน, เส้นทางสถานีรถไฟฟ้ารังสิต–บขส.รังสิต และเส้นทางซอยเจริญชัย–สถานีรังสิต 2.สถานีบางบำหรุ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปเส้นทางที่มีความเหมาะสมอีกครั้งต่อไป ในส่วนของสถานีที่เหลือนั้น จะทยอยพิจารณาความเหมาะสม และสอดคล้องกับการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ พ.ย.นี้ ซึ่งประเมินว่า สถานีอื่นๆ ที่มีความเหมาะสม เช่น สถานีตลิ่งชัน สถานีดอนเมือง สถานีหลักสี่ สถานีวัดเสมียนนารี เป็นต้น
ทั้งนี้ เส้นทาง Feeder ดังกล่าวนั้น เป็นเพียงแนวทางที่ สนข. ได้ดำเนินการศึกษาไว้ให้กับผู้ประกอบการขนส่งที่จะมาวิ่งให้บริการ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนแนวเส้นทางได้ตามความเหมาะสม และสอดรับกับความต้องการของประชาชน โดยจะไม่มีเส้นทางที่ทับซ้อนกัน ซึ่งในเบื้องต้น สนข.ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการไว้เบื้องต้นแล้ว โดยหลังจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องยื่นความประสงค์เพื่อขออนุญาตกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ก่อนวิ่งให้บริการในเส้นทางที่กำหนด ขณะที่ค่าโดยสารนั้น จะเป็นไปตามเกณฑ์ที่ ขบ. กำหนดไว้อยู่แล้ว โดยในส่วนของยานพาหนะนั้น จะกำหนดให้นำยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มาให้บริการ เช่น รถกะป้อไฟฟ้า รถสองแถวไฟฟ้า รถมินิบัสไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อไม่ให้ไปสร้างปัญหามลพิษด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน
รายงานข่าวจาก สนข. ระบุว่า สำหรับเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน มีจำนวน 9 เส้นทาง ระยะทาง 170.38 กม. ประกอบด้วย 1.รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่–เตาปูน ระยะทาง 23 กม. 2.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ–หัวลำโพง ระยะทาง 20 กม. 3.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง–บางแค (หลักสอง) ระยะทาง 14 กม. 4.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ–ท่าพระ ระยะทาง 13 กม. 5.รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ–บางหว้า ระยะทาง 14 กม. 6.รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต–สมุทรปราการ ระยะทาง 37.10 กม. 7.รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต ระยะทาง 18.70 กม. 8.รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ ช่วงพญาไท–สุวรรณภูมิ ระยะทาง 28.70 กม. และ9.รถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี–คลองสาน ระยะทาง 1.88 กม.
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 6 โครงการ ระยะทาง 150.76 กม. ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ–รังสิต ระยะทาง 26.30 กม. 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ–ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.26 กม. 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ–มีนบุรี ระยะทาง 22.50 กม. 4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย1มีนบุรี ระยะทาง 34.50 กม. 5.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว–สำโรง ระยะทาง30.40 กม. และ 6.โครงการรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท–ดอนเมือง (รวมอยู่ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน) ระยะทาง 21.80 กม.