‘ศักดิ์สยาม’ ถกแผนเปิดให้บริการรถไฟสายสีแดง เดินรถเข้าหัวลำโพง 22 ขบวน ชม.เร่งด่วนเช้า-เย็น จัด Shuttle Bus รับ-ส่ง นัดประชุมสรุปอีกครั้งอีก 1 เดือน

“ศักดิ์สยาม” ถกแผนเปิดให้บริการรถไฟสายสีแดง ปรับเดินรถเข้าหัวลำโพงเหลือ 22 ขบวน เล็งให้บริการชั่วโมงเร่งด่วนเช้า-เย็น จัด Shuttle Bus รับ-ส่ง มอบ รฟท. หารือ กทพ.-รฟม. วิ่ง Shuttle Bus ขึ้นทางด่วนฟรี-ยกเว้นค่าแรกเข้าสายสีน้ำเงิน เผยเตรียมทดสอบเสมือนจริง 26 มี.ค.นี้ ด้าน ปชช. ได้นั่ง ก.ค.64 พร้อมสั่งศึกษาค่าโดยสารตามระยะทาง นัดประชุมสรุปอีกครั้งภายใน 1 เดือน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ว่า ตามที่ตนได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ชุด เพื่อมาพิจารณาในโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการเตรียมการเปิดใช้โครงการ และการเดินรถ 2.คณะอนุกรรมการดูแลการขนส่ง (ดูแลการจราจรและระบบคมนาคมขนส่งเชื่อมต่อของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อ) 3.คณะอนุกรรมการจัดการเรื่องการย้ายสถานีและงานอาคารสถานที่ต่างๆ 4.คณะอนุกรรมการ ที่ดูแลเรื่องค่าโดยสารและระบบจัดเก็บตั๋วโดยสาร (กรมการขนส่งทางรางรับผิดชอบ) และ 5.คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์และสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนนั้น

ล่าสุด ที่ประชุมในวันนี้ (9 มี.ค. 2564) ได้มีการหารือถึงบริหารสถานีกลางบางซื่อ การปรับแผนเดินรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตามที่คณะอนุกรรมการฯ ได้ทำการบ้านส่งมาให้กระทรวงคมนาคม โดยในขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับแผนการเดินรถ เบื้องต้นจะให้บริการจำนวน 22 ขบวนในชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้าและช่วงเย็น ซึ่งอาจจะให้บริการภายใน 2 ชม. และอาจจะเดินรถ 20 นาทีต่อขบวน เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด แต่ทั้งนี้ต้องรอสรุปอีกครั้งต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จะต้องจัดเตรียมรถรับ-ส่ง (Shuttle Bus) เชื่อมต่อโครงการรถไฟสายสีแดง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปรับแผนเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง โดยเส้นทางการเดินรถ Shuttle Bus นั้น จะใช้เส้นทางเดินรถบนทางพิเศษ (ทางด่วน) แทนที่จะวิ่งทางราบ เพื่อความรวดเร็ว ประหยัดเวลาในการเดินทาง และไม่ต้องเจอรถติด ซึ่งเรื่องนี้มอบหมายให้ไปบูรณาการร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อยกเว้นค่าผ่านทางในการช่วยเหลือประชาชนต่อไป

ขณะเดียวกัน จะต้องไปบูรณาการกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อพิจารณาให้ยกเว้นค่าแรกเข้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินด้วย เนื่องจากเรื่องดังกล่าว จะทำให้ทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีแดง มีผู้โดยสารใช้บริการทั้ง 2 สาย อีกทั้ง จะทำให้การเดินทางเชื่อมต่อกัน และในอนาคตจะต้องเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และ สายสีชมพู ช่วงมีนบุรี-แครายต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ต้องรีบประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบ เพื่อวางแผนการเดินทางในอนาคต

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ที่ประชุม ยังได้มีการหารือถึงเรื่องแผนเตรียมทดสอบการเดินรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เสมือนจริง (Trial Run) ในวันที่ 26 มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนากิจการการรถไฟฯ และเป็นวันปฐมฤกษ์นั้น เวลา 10.00 น. จะเปิดทดสอบเดินทางเสมือนจริงดังกล่าว โดยจะเป็นการทดสอบภายในเฉพาะกระทรวงคมนาคม และยังไม่มีการเปิดให้ประชาชนได้ร่วมทดสอบ จากตามแผนตอนแรกจะเปิดให้ประชาชนบางส่วนได้ทดลองใช้บริการ

ขณะเดียวกัน หลังจากวันที่ 26 มี.ค. 2564 นั้น จะเปิดให้ประชาชนที่เดินทางมาเป็นหมู่คณะ หรือสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ต้องการทัศนศึกษาดูงานเส้นทางรถไฟสายสีแดง สามารถทำหนังสือมาที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อพิจารณาจัดช่วงเวลาที่เปิดให้ทดลองเดินรถที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งการเปิดให้เข้าทัศนศึกษานี้ จะไม่ใช้เพื่อเดินทาง เน้นศึกษาดูงานเท่านั้น จากนั้นจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ (Soft Opening) ช่วงเดือน ก.ค. 2564 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในช่วง พ.ย. 2564 ต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ขณะที่ การกำหนดอัตราค่าโดยสารนั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เบื้องต้นค่าโดยสารอยู่ที่ 15-42 บาท แต่ทั้งนี้ตนให้ไปศึกษารายละเอียดแผนให้ชัดว่า แต่ละสถานีห่างกันต้องกำหนดค่าโดยสารเท่าไหร่ เพราะจะใช้ระยะทางในการกำหนดราคาค่าโดยสาร เพระฉะนั้นต้องอธิบายให้ได้ว่า ต้นทุนต่อ กม. เท่าไหร่ ระยะทางระหว่างของแต่ละสถานีเท่าไหร่ ซึ่งไม่ใช่ 1-2 บาทต่อสถานี ซึ่งเรื่องนี้จะใช้เวลาประชุมอีก 1 เดือน ในแต่ละคณะอนุกรรมการ ก็มีเวลาที่ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกระบวนการ เมื่อได้ข้อสรุปอัตราค่าโดยสารที่ชัดเจนแล้ว จากนั้นต้องออกประกาศกำหนดอัตราค่าโดยสาร แล้วเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับการที่จะเปิดเชิงพาณิชย์ต่อไป