บอร์ด EEC เพิ่มงบเวนคืนไฮสปีด 3 สนามบิน 2.17 พันล้าน พร้อมไฟเขียววงเงิน ทลฉ.เฟส 3 ตอบแทนรัฐ 2.09 หมื่นล้าน

บอร์ด EEC เพิ่มกรอบงบวงเงินเวนคืนไฮสปีด 3 สนามบิน วงเงิน 2.17 พันล้าน ก่อนเร่งส่งมอบพื้นที่ พร้อมมีมติยอมรับราคา แหลมฉบัง เฟส 3 วงเงิน 2.09 หมื่นล้าน ต่ำกว่าราคากลาง 9.85% คาดลงนามสัญญา ครม.เห็นชอบภายใน 3 เดือน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือคณะกรรมการ EEC วันนี้ (1 มี.ค. 2564) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โดยในขณะนี้สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย และได้มีการเสนอขอเพิ่มกรอบวงเงินสำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์และสำรวจอสังหาริมทรัพย์ กรณีเวนคืนตามสัญญาร่วมลงทุนฯ วงเงิน 2,170.15 ล้านบาท ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

ทั้งนี้ วงเงิน 2,170.15 ล้านบาทดังกล่าวข้างต้นนั้น แบ่งเป็น งบจำเป็นเร่งด่วน โดยขอรับงบกลางปี 2564 เพื่อจ่ายค่าเวนคืนช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา วงเงิน 607.56 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นเร่งด่วน ให้ทันส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิภายใน 24 ต.ค. 2564 และขอรับงบประมาณประจำปี 2565 วงเงิน 1,562.59 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืน ช่วงพญาไท-ดอนเมือง วงเงิน 792.11 ล้านบาท และค่าเผื่ออุทธรณ์ ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา (อาจไม่ต้องใช้) วงเงิน 770.48 ล้านบาท

สำหรับการขอเพิ่มกรอบวงเงินดังกล่าวนั้น ยังไม่เกินกรอบเดิมที่ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแต่จะทำให้งบประมาณค่าเวนคืนเพิ่มขึ้น จากเดิม 3,570 ล้านบาท เป็นจำนวน 5,740 ล้านบาท และหลังจากนี้ก็จะต้องเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป ซึ่งในการขออนุมัติเพิ่มดังกล่าว เพื่อการรื้อย้ายสาธารณูปโภค และเปิดพื้นที่ก่อสร้างพร้อมสามารถส่งมอบพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ภายใน มี.ค.2564 และการส่งมอบพื้นที่เวนคืน อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาซื้อขายโดยการรถไฟฯ คาดว่า จะส่งมอบพื้นที่ได้อย่างช้าภายใน ก.ย.2564 รวมถึงการลงนามในสัญญาการบริหารจัดการที่ดินมักกะสัน เพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ คาดว่าจะเป็นในช่วง มี.ค. 2565

ขณะที่ ความคืบหน้าการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทฉล.) ระยะที่ 3 โดยก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการ EEC ได้มอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ไปเจรจากับเอกชน หรือกลุ่ม GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เพื่อจ่ายค่าตอบแทนให้รัฐ อยู่ที่ 29,050 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราคากลางประมาณ 9.85% จากผลตอบแทนที่ ครม. อนุมัติที่ 32,225 ล้านบาท ซึ่งมติที่ประชุม EEC ยอมรับราคา และเป็นไปตามระเบียบที่สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ และจากนี้จะต้องมีการเสนอเรื่องให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หาก ครม.เห็นชอบ คาดว่าจะสามารถดำเนินการลงนามในสัญญาได้ภายใน 3 เดือน