‘คมนาคม’ ขนทัพบุก ‘อุทัยธานี’ Kick Off ใช้ยางพาราเพิ่มความปลอดภัยทางถนน แห่งที่ 6

“คมนาคม” ขนทัพบุก “อุทัยธานี” Kick Off ใช้ยางพาราเพิ่มความปลอดภัยทางถนน แห่งที่ 6 “ศักดิ์สยาม” คุยโวช่วยดันราคายางสูงต่อเนื่อง ด้าน “ปฐม” อธิบดี ทช. เร่งเครื่องเฟสแรก 209 กม. จ่อของบกลางปี 64 เพิ่ม ภายใน พ.ย.นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกันผลักดันโครงการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน ประกอบด้วย 2 ผลิตภัณฑ์ คือ แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier: RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post: RGP) ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณตั้งต้นโครงการฯ วงเงินกว่า 2,770 ล้านบาท เพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน พ.ย. 2563 โดยได้เดินหน้า Kick Off และสร้างการรับรู้กับชาวสวนยางมาแล้ว รวม 6 แห่ง เริ่มจากจังหวัดจันทบุรี สตูล นครพนม บึงกาฬ เลย และล่าสุดที่อุทัยธานี

สำหรับการ Kick Off ที่จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งถือเป็นจังหวัดในภาคกลางของไทย ที่มีการปลูกยางพาราจำนวนมากโดยข้อมูลล่าสุดของการยางแห่งประเทศไทยพบว่ามีเกษตรกรชาวสวนยางจำนวน 1,994 ราย พื้นที่ปลูกยางรวมทั้งสิ้น 35,878 ไร่ โดยผลผลิตยางพาราแบ่งเป็นยางแผ่นดิบ 598 ตัน คิดเป็น 77.25% และยางก้อนถ้วย 155 ตัน คิดเป็น 20.02%

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้กำหนดแผนการดำเนินโครงการดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2563-2565 โดยมีปริมาณการใช้ยางพารา จำนวน 1,007,951 ตัน และจะนำ 2 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มาใช้ติดตั้งบนถนนของ ทล. และ ทช. ระยะทางรวม 12,282 กิโลเมตร คิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรชาวสวน ซึ่งมั่นใจว่าโครงการยางพาราเพื่อความปลอดภัยทางถนนนี้ เมื่อมีเป้าหมายในการใช้ยางพาราแต่ละปีชัดเจน จะช่วยสร้างเสถียรภาพด้านราคาให้แก่ยางพาราเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนของสถานการณ์ยางพาราล่าสุดราคาน้ำยางพารา อยู่กิโลกรัมละ 63 บาท ส่วนยางก้อนถ้วย ก่อนที่จะมีโครงการราคาเคยตกต่ำถึงกิโลกรัมละ 8 บาท แต่ปัจจุบันอยู่กิโลกรัมละ 22 บาท โดยกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป้าหมายที่จะผลักดันให้ราคายางก้อนถ้วยนี้ กิโลกรัมละ 28 บาท

ด้านนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ตามที่เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2563 ที่ประชุม ครม. สัญจรที่จังหวัดระยอง ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง วงเงิน 2,770 ล้านบาทนั้น ถือเป็นการดำเนินการระยะที่ 1 โดยกรมทางหลวง (ทล.) และ ทช. ได้นำมาใช้ในการนำ 2 ผลิตภัณฑ์ ทั้งแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ มาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ประกอบกับการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณการใช้ยางพาราเอซีเหลือเพียงเอซีเท่านั้น รวมถึงงบประมาณเหลือจ่ายปี 2563 มาใช้ รวมงบประมาณที่ใช้ในระยะที่ 1 ทั้งสิ้น 4,400 ล้านบาท ทั้งนี้ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน พ.ย. 2563 โดยในส่วนของ ทช. จะดำเนินการระยะที่ 1 แบ่งเป็น ใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีตบนนถนนของ ทช. ระยะทาง 209 กม. ขณะที่ หลักนำทางยางธรรมชาติ จะดำเนินการจำนวนกว่า 300,000 ต้น

ขณะที่ระยะที่ 2 นั้น ในช่วงกลาง พ.ย.นี้ จะเสนของบประมาณรายจ่ายงบกลางปี 2564 เพื่อนำมาดำเนินการต่อไป จากนั้นจะประเมินความคุ้มค่า รวมถึงสถิติอุบัติเหตุของโครงการ ทั้งนี้ จะดำเนินการให้เป็นไปตามแผนระนะ 3 ปี (2563-2565) โดยมีปริมาณการใช้ยางพารา จำนวน 1,007,951 ตัน มาใช้ติดตั้งบนถนนของ ทล. และ ทช. ระยะทางรวม 12,282 กิโลเมตร (กม.) ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นกว่า 85,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับ จำนวน 30,108 ล้านบาท นอกเหนือจากนี้ ในช่วง พ.ย. 2563 จะตั้งงบประมาณปี 2565 เพื่อบรรจุเข้าในปีงบประมาณ 2566 ด้วย