‘คมนาคม’ เดินหน้า ‘ตั๋วร่วม’ เร่งพัฒนาระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติข้ามระบบ ชี้ ‘รฟม.’จ่อลงนามสัญญาเดือนนี้ ด้าน BTS คาดอัพเกรดระบบแล้วเสร็จ ต.ค. 63 ก่อนทดสอบภายใน พ.ย.นี้

“ชัยวัฒน์” ปลัดคมนาคม ตามงาน “ตั๋วร่วม” เร่งพัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอัตโนมัติ ให้สามารถใช้บัตรโดยสารข้ามระบบ ระบุ รฟม.จ่อลงนามสัญญาภายในเดือนนี้ ก่อนเสนอบอร์ดเคาะไฟเขียวโดยด่วน ด้าน BTS คาดพัฒนาระบบแล้วเสร็จภายใน ต.ค. 63 พร้อมทดสอบระบบ พ.ย.นี้

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ครั้งที่ 32-5/2563 ว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าและติดตามแนวทางบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม โดยได้รับทราบความคืบหน้าการจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ. …. ซึ่งล่าสุด สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ไปร่วมชี้แจงรายละเอียดต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างการปรับร่างระเบียบฯ และจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ ความคืบหน้าการการพัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (AFC) ของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้สามารถใช้บัตรโดยสารข้ามระบบ (Interoperable Ticketing System) นั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการจัดทำคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน (Variation Order: VO) คาดว่าจะสามารถลงนามได้ในเดือน ส.ค. 2563 และนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. พิจารณาให้เร็วที่สุด

สำหรับการพัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (AFC) ของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้สามารถใช้บัตรโดยสารข้ามระบบดังกล่าว จะใช้เวลาดำเนินการ 8 เดือน คาดว่าจะเริ่มปฏิบัติงานได้ภายใน ก.ย. 2563 ซึ่งบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ขณะนี้ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างพัฒนาระบบฯ แล้วเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา คาดว่าจะพัฒนาระบบฯ แล้วเสร็จภายใน ต.ค. 2563 และทดสอบระบบได้ภายใน พ.ย. 2563 ซึ่งการทดสอบระบบระหว่างกันจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการใช้บัตรโดยสารข้ามระบบ ขณะนี้ สนข. อยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมข้อมูลเพื่อศึกษาวิเคราะห์อัตราค่าธรรมเนียมการใช้บัตรโดยสารข้ามระบบที่เหมาะสม คาดว่าจะนำเสนอคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมได้ภายใน ก.ย. 2563

ในส่วนของความคืบหน้าการดำเนินงานเกี่ยวกับระบบตั๋วร่วมนั้น บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ได้ว่าจ้างพัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (AFC) รองรับโครงการตั๋วร่วม ซึ่งผู้รับจ้างยังไม่สามารถส่งมอบแผนงานและส่งมอบงานจ้างพัฒนาระบบฯ ได้ตามสัญญา และยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ โดยผู้รับจ้างอ้างว่าประสบปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ รฟฟท. เร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด และให้ดำเนินการต่างๆ โดยยึดสัญญาเป็นหลัก

ขณะที่ กรมเจ้าท่า (จท.) ได้ดำเนินการพัฒนาท่าเรือที่อยู่ในความรับผิดชอบ จำนวน 17 ท่า ปัจจุบันมีท่าเรือที่ปรับปรุงแล้วเสร็จ จำนวน 8 ท่า พร้อมรองรับการดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วม ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการรายใดมีความพร้อมดำเนินการ จท. พร้อมจะสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้หน่วยงานต่างๆ เร่งรัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด โดยยึดถือข้อกฎหมายเป็นสำคัญ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงคมนาคมว่า การประชุมในวันนี้ (14 ส.ค. 2563) มีผู้แทนกรมเจ้าท่า (จท.), กรมการขนส่งทางบก (ขบ.), กรมทางหลวง (ทล.), สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.), การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), บริษัท ขนส่ง จำกัด (ขบส.), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะธนาคารแห่งประเทศไทย (สบน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม