ช้ำใจ!!! ผู้หญิงทำงานทั่วโลกถูกจำกัดการเติบโต พบมากสุดในสายงานการเงินกว่า 50%

ปัจจุบันผู้หญิงมีความสามารถไม่แพ้ผู้ชาย และในหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก ทั้งที่เป็นองค์กรขนาดเล็กและองค์กรขนาดใหญ่ ต่างให้การยอมรับและยกผู้หญิงให้กลายเป็นผู้บริหารระดับสูง เพราะด้วยฝีมือ ชั้นเชิงในการทำงาน แต่จากผลสำรวจล่าสุดกลับพบว่าอุตสาหกรรมบริการทางการเงินกลับพบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ทั่วโลกยังคงถูกจำกัดและ ถูกมองข้ามโดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องเป็นคุณแม่มือใหม่

ทั้งนี้ จากผลสำรวจของ PwC เผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงินทั่วโลกพบผู้หญิงในอุตฯดังกล่าวไม่ค่อยให้ความสำคัญ การสนับสนุน ส่งเสริม และช่วยเหลือผู้หญิงเติบโตในสายอาชีพมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ สืบเนื่องจากความแตกต่างทางเพศ ที่ถือเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการทำงาน อีกทั้งกังวลว่า หากใช้สิทธินโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่นจะทำให้ตนหมดโอกาสในการเติบโต ขณะที่ประเทศไทยแตกต่างออกไป เพราะอุตฯ บริการทางการเงินได้ให้โอกาสหญิงเก่งมากขึ้น โดยเห็นจากองค์กรขนาดใหญ่หนุนให้ผู้หญิงตบเท้าก้าวขึ้นเป็นผู้นำ พร้อมแนะนโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่นต้องเน้นสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวและการทำงาน โดยไม่ปิดกั้นโอกาสความก้าวหน้าในการเติบโตของผู้หญิง

สำหรับ บริษัท PwC ประเทศไทย หนึ่งในเครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการด้านการตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาด้านภาษีและกฎหมาย และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก เผยรายงาน Seeing is believing: Clearing the barriers to women’s progress in financial services ฉบับล่าสุด ซึ่งได้ทำการสำรวจผู้หญิงทำงานในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินทั่วโลกจำนวน 290 คนที่มีอายุระหว่าง 28 ถึง 40 ปี จากทั้งหมดที่ได้ทำการสำรวจผู้หญิงทำงานจำนวนทั้งสิ้น 3,627 คน ในทุกอุตสาหกรรมจากทั่วโลกว่าอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน(Financial Services) ให้การสนับสนุนความก้าวหน้าในการทำงานและส่งเสริมให้ผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงน้อย คิดเป็นสัดส่วน 54% โดยเชื่อว่า ความแตกต่างทางเพศเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในสายอาชีพภายในองค์กร เปรียบเทียบกับผู้หญิงในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นที่ 45%

ขณะที่ ผู้หญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินทั่วโลก เคยมีประสบการณ์ในการต้องเผชิญกับคำพูดที่ดูหมิ่น ข่มขู่ และการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมมากถึง 43% เทียบกับอุตสาหกรรมอื่นโดยเฉลี่ยที่ 34% นอกจากนี้รายงานยังชี้ให้เห็นถึงความกังวลจากผลกระทบของนโยบายในที่ทำงานที่สนับสนุนผู้หญิงทำงานที่เป็นคุณแม่ โดยเกือบ60% ของคุณแม่มือใหม่ในอุตฯ นี้เชื่อว่าพวกเขาถูกมองข้าม หรือหมดโอกาสในการที่จะก้าวหน้าในสายอาชีพหลังจากกลับมาทำงานจากลาคลอด ซึ่งมากกว่าครึ่งยังเชื่อด้วยว่านโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่นในที่ทำงานอาจส่งผลกระทบต่ออนาคตหากพวกเขาปฏิบัติตามโดย 52% มองว่านโยบายดังกล่าวไม่พร้อมใช้ในทางปฏิบัติสำหรับพวกเขาขณะที่ 51% มองว่าอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่ออนาคตการทำงานหากพวกเขาปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ดีผลสำรวจได้แสดงให้เห็นถึงสัญญาณเชิงบวกในการส่งเสริมความก้าวหน้าของผู้หญิงในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงินโดยมากกว่า 60% ระบุว่าพวกเขามีการเจรจาต่อรองเพื่อขอเลื่อนตำแหน่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเปรียบเทียบกับผู้หญิงในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ 48% นอกจากนี้มากกว่า 80% ของผู้หญิงทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน ยังมีความมั่นใจในการเป็นผู้นำ และเชื่อในความสามารถที่จะผลักดันให้ตนเดินไปสู่เป้าหมายในหน้าที่การงานที่วางไว้

พร้อมกันนี้ หากดูช่องว่างเรื่องรายได้ระหว่างชาย และหญิง ไม่ค่อยแตกต่างกันมาก เมื่อพนักงานมีอายุประมาณ20 ปีปลายๆ แต่ช่องว่างนี้กลับกว้างขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพนักงานเข้าสู่อายุ 40 ปี นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่นายจ้างต้องเข้าใจถึงความต้องการและความกังวลของคนกลุ่มนี้เพื่อให้องค์กรสามารถหาแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมบริการทางการเงินไทยแทบไม่มีความเหลื่อมล้ำทางเพศในการทำงาน เพราะเห็นได้จากธุรกิจการเงินหลายแห่ง หรือแม้แต่องค์กรระดับประเทศ ล้วนมีผู้นำองค์กรเป็นผู้หญิง นั่นสะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมบริการทางการเงินของไทย รวมไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆเองค่อนข้างให้การสนับสนุนผู้หญิงให้มีความก้าวหน้าในอาชีพและผลักดันให้ผู้หญิงมีโอกาสในการเป็นผู้นำองค์กรมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเพราะปัจจุบันมีผู้หญิงทำงานที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่องค์กรไทยควรให้การสนับสนุนและส่งเสริมไม่แพ้กัน คือนโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่นเพื่อให้ผู้หญิงสามารถบริหารสมดุลในชีวิตครอบครัวและการทำงานได้อย่างลงตัวเพื่อให้พวกเธอทำงานอย่างมีความสุขและผลงานที่ออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้น