รฟม.หยั่งเสียงนักลงทุน Tram เชียงใหม่ ‘สายสีแดง’ 2.7 หมื่นล้าน เปิดใช้ปี 70 เคาะค่าโดยสาร 15-30 บาท

รฟม.หยั่งเสียงนักลงทุน Tram เชียงใหม่ สายสีแดง “รพ.นครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี” 2.7 หมื่นล้าน PPP สัมปทาน 30 ปี เคาะสรุปผลกลางปีนี้ พร้อมชง ครม.กลางปี 64 ตอกเข็มปี 65 เปิดให้บริการปี 70 ค่าโดยสาร 15-30 บาท

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า วันนี้ (12 ก.พ. 2563) รฟม. ได้จัดการประชุมเพื่อทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Market Sounding) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะทาง 15.8 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนประมาณ 27,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าเวนคืนที่ดิน จำนวน 25 ไร่ วงเงิน 4,400 ล้านบาท ค่างานโยธา วงเงิน 15,000 ล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยอัตราผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) จะอยู่ที่ประมาณ 13%

สำหรับการจัด Market Sounding ในครั้งนี้นั้น เพื่อรับฟังข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากนักลงทุนที่มีความสนใจ ทั้งในส่วนกลาง และท้องถิ่นว่า มีความสนใจต่อโครงการดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน พร้อมทั้งเพื่อประกอบรายงานผลการศึกษาการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ (PPP) ที่เหมาะสม ก่อนที่จะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่า รฟม.

ในส่วนของรูปแบบการลงทุนเบื้องต้นนั้น บริษัทที่ปรึกษาได้เสนอรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน ทั้งในส่วนงานโยธาและงานระบบ (PPP 100%) โดยรัฐบาลจะสนุนทางการเงิน (Subsidy) งานโยธา คล้ายกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีชมพู และสายสีเหลือง ซึ่งจะต้องรอสรุปรายละเอียดอีกครั้งต่อไป โดยเอกชนจะได้รับสัมปทาน 30 ปี 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลการศึกษาโครงการฯ จะสรุปได้ภายในกลางปี 2563 ก่อนเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. พิจารณา จากนั้นจะเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการได้ในช่วงกลางปี 2564 และเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชน เพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2565 และสามารถเปิดได้ภายในปี 2570

นายธีรพันธ์ กล่าวต่ออีกว่า โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคีนั้น มีจำนวนสถานีทั้งหมด 16 สถานี แบ่งเป็น สถานีระดับพื้นดิน 9 สถานี และสถานีใต้ดิน 7 สถานี ใช้ระยะเวลาการเดินทางตั้งแต่สถานีต้นทางจนถึงสถานีปลายทางประมาณ 36 นาที โดยทางวิ่งบนดินจะใช้ความเร็ว 50 กม./ชม. และทางวิ่งใต้ดิน ใช้ความเร็ว 70 กม./ชม.


ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Tram) ซึ่งจะช่วยทำให้การเดินทางในจังหวัดเชียงใหม่ สะดวกสบายยิ่งขึ้น ประหยัดระยะเวลา ทั้งยังแก้ไขปัญหาหารจราจร รวมถึงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัด และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย ขณะที่ ปริมาณผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการนั้น คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 16,000 คนในปีแรกที่เปิดให้บริการ และเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต ในส่วนของอัตราค่าโดยสารนั้น เบื้องต้นจะเริ่มต้นที่ 14 บาท และเพิ่มสถานีละ 1 บาท หรือราคาค่าโดยสารประมาณ 15-30 บาทต่อคนต่อเที่ยว

รายงานข่าวจาก รฟม. ระบุว่า โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะทาง 15.8 กม. มีสถานีรับ – ส่ง ผู้โดยสาร 16 สถานี ได้แก่ สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์ สถานีศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ สถานีสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี สถานีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ สถานีแยกหนองฮ่อ สถานีโพธาราม สถานีข่วงสิงห์ สถานีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถานีขนส่งช้างเผือก สถานีมณีนพรัตน์ สถานีประตูสวนดอก สถานีแยกหายยา สถานีแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ สถานีท่าอากาศยานเชียงใหม่ สถานีบ้านใหม่สามัคคี และสถานีแม่เหียะสมานสามัคคี