‘การทางพิเศษฯ’ จับมือ ‘ทรูมันนี่’ เปิดบริการสมัครบัตร Easy Pass ผ่าน TrueMoney Wallet หวังขยายฐานลูกค้าใช้บริการ Easy Pass เดิม 1.79 ล้านบัตรเพิ่มขึ้น

“การทางพิเศษฯ” จับมือ “ทรูมันนี่” เปิดบริการสมัครบัตร Easy Pass ผ่าน TrueMoney Wallet หวังขยายฐานลูกค้าใช้บริการ Easy Pass เดิม 1.79 ล้านบัตรเพิ่มขึ้น

นายดำเกิง ปานขำ รองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังพิธีประกาศร่วมมือกับ บริษัท ทรูมันนี่ ประเทศไทย เปิดบริการสมัครใช้บัดร Easy Pass รูปแบบใหม่ผ่านแอปพลิเคชั่น TrueMoney Walletว่า จากนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการลดปัญหาการจราจรติดขัด โดยเฉพาะบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ นอกเหนือจากมาตรการยกไม้กั้นในช่อง Easy Pass ช่วงชั่วโมงเร่งด่วนแล้วนั้น สิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่ง คือ การเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ในการเข้าถึงและชำระค่าบริการในการใช้บัตร Easy Pass ให้สะดวกขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้ทางพิเศษหันมาใช้บัตร Easy Pass มากขึ้น และจะช่วยลดปัญหาการรอชำระค่าผ่านทางหน้าด่านฯ โดย กทพ.ได้ร่วมมือกับ ทรูมันนี่ เพิ่มช่องทางการสมัครใช้บริการบัตร Easy Pass โดยผูกกับ TrueMoney Wallet ทำให้สะดวกในการสมัครและเติมเงินในบัตรมากขึ้นกว่าเดิมที่ผู้ใช้ทางต้องเดินทางไปสมัครบัตร Easy Pass ที่ศูนย์ควบคุมทางพิเศษและด่านฯ ต่างๆ บนทางพิเศษ ทำให้เสียเวลาและไม่สะดวก

ทั้งนี้ กทพ. ได้เปิดให้บริการระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection System : ETC) หรือ Easy Pass มาตั้งแต่ปี 2553 ในปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้บัตร Easy Pass กว่า 1.79 ล้านบัตร ประมาณ 42% ของผู้ใช้ทางพิเศษทั้งหมดเฉลี่ยประมาณ 7.8 แสนเที่ยวต่อวัน โดยทางพิเศษบูรพาวิถีมีผู้ใช้บัตร Easy Pass มากที่สุด ประมาณ 46% มียอดการเติมเงินสำรองค่าผ่านทางเฉลี่ยประมาณ 32 ล้านบาทต่อวัน โดย กทพ. ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ กว่า 16 หน่วยงาน แบ่งเป็นธนาคาร 8 แห่ง และหน่วยงานภายนอก อีก 8 แห่ง ในการเป็นผู้ให้บริการรับเติมเงินสำรองบัตร Easy Pass และการร่วมมือกับทรูมันนี่นั้น ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ทางพิเศษให้สามารถเป็นเจ้าของบัตร Easy Pass ได้ง่ายขึ้น โดยสามารถจัดส่งบัตร Easy Pass ให้กับผู้ใช้ทางได้ถึงบ้าน พร้อมเป็นการขยายฐานผู้ใช้งานสมัคร Easy Pass ไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้งาน แอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet เป็นประจำกว่า 8.4 ล้านรายต่อปี

“ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการช่วยระดับการเดินทางในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในหลายๆ โครงการที่ กทพ. ได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการทางพิเศษเปลี่ยนมาชำระด้วยบัตร Easy Pass เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ในอนาคตตามแผนที่วางไว้ เช่น บูรณาการเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้และพัฒนาโปรแกรมเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบกและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อนำมาวิเคราะห์และนำ Big Data นั้นไปประยุกต์ใช้ในทั้งในค้นการวางแผนนโยบาย การป้องปรามและการควบคุมจัดการการจราจรบนเส้นทางที่การทางพิเศษฯ ดูแลรับผิดชอบไปจนถึงป้องกันปัญหาอาชญากรรม ลดอุบัติเหตุ สามารถ Check in /check out และคำนวณค่าผ่านทางได้ทันทีภายในปี 2563″ นายดำเกิง กล่าว