‘อธิรัฐ’ ดันประมูลแหลมฉบังเฟส 3 ตั้งธงลงนาม ต.ค.นี้ สั่ง กทท.ถกร่วม รฟท. อัพสัดส่วนขนส่งน้ำ-ราง 30%

“อธิรัฐ” ดันประมูลแหลมฉบังเฟส 3 ฝันลงนาม ต.ค.นี้ พร้อมสั่ง กทท. คุยร่วม รฟท. อัพสัดส่วนขนส่งทางน้ำเชื่อมราง 30% ด้าน กทท.เตรียมถกศุลกากรตั้งด่านท่าเรือบางสะพาน ขานรับนโยบายลดปริมาณรถบรรทุกถนนพระราม 2

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) วันนี้ (7 ก.ย. 2562) ว่า  การลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบังในครั้งนี้ ตนได้มอบนโยบายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) บูรณาการด้านการขนส่งสินค้าทางน้ำเชื่อมกับระบบราง เนื่องจากพบว่าปัจจุบันสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางมีอยู่เพียง 7% ซึ่งต้องการให้ปรับเพิ่มเป็น 30% จึงขอให้เร่งหารือร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 

นอกจากนี้ ยังต้องการให้ท่าเรือแหลมฉบัง ยกระดับเป็นท่าเรือสมาร์ทพอร์ท ขนถ่ายสินค้าด้วยระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติ และต้องวางแผนพัฒนาท่าเทียบเรือ A5 เพื่อรองรับการเชื่อมต่อเส้นทางเดินเรือ บางสะพาน จ.ประจวบฯ – ท่าเรือแหลมฉบัง ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่จะลดปริมาณการจราจรแออัดบริเวณถนนพระราม 2 และกรุงเทพฯ ด้วย

ในส่วนของความคืบหน้าของแผนพัฒนาศักยภาพท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 นั้น นายอธิรัฐ กล่าวว่า จากการรายงานของ กทท.พบว่า มีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้าน ที.อี.ยู.ต่อปี เพิ่มเป็น 18 ล้าน ที.อี.ยู ต่อปี ซึ่งในปัจจุบัน กทท.อยู่ระหว่างขั้นตอนประมูลจัดหาเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 คาดว่าหากไม่ติดขั้นตอนทางกฎหมาย จากกรณีที่เอกชนยื่นศาลปกครองกลาง คุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับการดำเนินการคัดเลือก คณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็จะสามารถเจรจากับเอกชนที่มีคะแนนสูงสุด และลงนามสัญญาร่วมทุนได้ภายในเดือน ต.ค.นี้

 

***ถกศุลกากร รับลูกนโยบายคมนาคม***

ด้านเรือโท ยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า ท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางของการขนส่งในเอเชีย เชื่อมโยงจีน-อินโดนีเซีย และเป็นหัวใจสำคัญของโลจิสติกส์ในกลุ่ม CLMV และแนวระเบียงเศรษฐกิจ EWEC โดยในปัจจุบันมีการนำเข้าและส่งออกรถยนต์เป็นอันดับ 4 ของโลกเฉลี่ย 1.2 ล้านคันต่อปี อย่างไรก็ตาม การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 นั้น จะทำให้ท่าเรือแห่งนี้ ติด 1 ใน 10 ของโลก รองรับสินค้า 18 ล้านตู้ ที.อี.ยู.ต่อปี ปัจจุบันปริมาณสินค้าเติบโตทุกปีเฉลี่ยปีละ 5% โดยมีสัดส่วนการนำเข้าและส่งออกเท่ากันที่ 50:50  

ในส่วนการนำนโยบายเพิ่มสัดส่วนการส่งต่อสินค้าทางรางให้ได้ 30% นั้น เรือโท ยุทธนากล่าวว่า จะต้องเร่งดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ( Single Rail Transfer Operator : SRTO) วงเงิน 3,000 ล้านบาท ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างเตรียมเปิดประมูลจ้างเอกชนดำเนินงาน ขณะนี้เอกสารเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ได้เปิดประชาพิจารณ์บนเว็บไซต์แล้ว หากไม่มีข้อร้องเรียนจะเริ่มขายซองประกวดราคาในเดือนหน้า สำหรับเกณฑ์คัดเลือกจะมีเรื่องราคาและด้านคุณภาพบริการ โดยกำหนดอัตราค่าตอบแทนเอกชนที่ 376 บาท/ตู้ ที.อี.ยู.

สำหรับนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่จะนำแพขนานยนต์ (เรือ row-row) เพื่อนำรถบรรทุกลงเรือแล้วไปขึ้นที่ท่าเรือปลายทางในภาคใต้ เส้นทางแหลมฉบัง-บางสะพานเพื่อลดปริมาณรถบรรทุกบนถนนพระราม 2 นั้น ในสัปดาห์หน้าจะหารือร่วมกับศุลกากร เพื่อหาแนวทางการตั้งจุดตรวจสินค้าที่ท่าเรือบางสะพาน ซึ่งทางฝั่งแหลมฉบังจะใช้ท่าเรือ A5 รองรับเรือ row-row รับสินค้าได้ราว 700,000 ตู้ ที.อี.ยู. ต่อปี นอกจากนี้จะหารือกับเอกชนอย่าง Unithai เพื่อขอใช้พื้นที่ท่าเรือเอกชนในแหลมฉบังรองรับเรือดังกล่าวอีกด้วย