‘รถตู้วิ่งระยะสั้น’ เฮ! ‘ขนส่งทางบกกลางฯ’ ไฟเขียวขยายเวลา 6 เดือน ไม่บังคับเปลี่ยนเป็นมินิบัส

“ขนส่งทางบกกลางฯ” ไฟเขียวขยายมาตรการรถตู้ระยะสั้นหมวด 1 และ 4 ไม่บังคับเปลี่ยนเป็นรถมินิบัสไปอีก 6 เดือน หรือภายใน 31 มี.ค. 63 รอผลการศึกษาจาก ขบ. ส่วนรถตู้ระยะไกลวิ่งระหว่างจังหวัดยึดตามมติเดิม เมื่อครบอายุใช้งานต้องเปลี่ยนเป็นมินิบัส หากไม่เปลี่ยนต้องหยุดวิ่งทันที

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้รถตู้หมวด 1 วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และรถตู้หมวด 4 วิ่งภายในจังหวัด หรือเรียกว่ารถตู้วิ่งระยะสั้นนั้น ขยายอายุมาตรการบังคับการเปลี่ยนรถตู้เป็นมินิบัสออกไปอีก 6 เดือน (180 วัน) หรือวันที่ 31 มี.ค. 2563 จากเดิมที่จะต้องเปลี่ยนภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ จำนวนกว่า 414 คัน เพื่อรอผลการศึกษาของกรมการขนส่งทางบก หรือ ขบ. ไปศึกษาความเหมาะสมในการเปลี่ยนรถมินิบัสตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ รถตู้หมวด 1 และรถตู้หมวด 4 นั้น สามารถเลือกได้ว่าจะเปลี่ยนเป็นรถตู้แบบเดิม หรือเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส แต่พอครบ 6 เดือนแล้วมีข้อสรุปออกมาอย่างไร ก็ต้องยึดตามเงื่อนไขใหม่ สำหรับสาเหตุที่เปิดให้รถหมวด 1 และ หมวด 4 เป็นภาคสมัครใจนั้น เนื่องจากพบว่าตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมามีเพียง 6 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียว ซึ่งถือว่าน้อยมาก

สำหรับรถโดยสารที่วิ่งระยะทางไกล หรือรถตู้หมวด 2 กรุงเทพ-ต่างจังหวัดทุกเส้นทาง และรถตู้หมวด 3 วิ่งระหว่างจังหวัด ที่จะหมดอายุจำนวน 355 คันนั้น ในช่วง 6 เดือนนับจากนี้ จะยังคงมติเดิมไว้ก่อน คือ บังคับให้เปลี่ยนมินิบัสหากรถตู้หมดอายุการใช้งานในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการมี 2 ทางเลือกคือ 1.หยุดวิ่ง 2.รอความชัดเจนของนโยบายใน 6 เดือน อย่างไรก็ตาม เรื่องข้อจำกัดหากผู้ประกอบการเปลี่ยนมาเป็นมินิบัสนั้น การศึกษาเบื้องต้นพบว่า ผู้ประกอบการต้องมีการลงทุนจำนวนมากและมีจุดคุ้มทุนที่ค่อนข้างนาน จนอาจทำให้ต้องเพิ่มราคาค่าโดยสารเป็นภาระของประชาชน ขณะที่ กรณีที่รถตู้หยุดให้บริการจะไม่กระทบต่อการเดินทางของประชาชนเนื่องจากจะมีรถของ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. คอยให้บริการอยู่

นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดเรื่องจุดจอดรถมินิบัสที่ต้องใช้พื้นที่มาก ส่วนเรื่องการขยายเวลาเปลี่ยนรถตู้จากเดิม 10 ปีเป็น 12 ปีนั้นก็ต้องใช้เวลาศึกษาประมาณ 6 เดือนเช่นกัน แต่ทั้งนี้ การศึกษาจะดูเรื่องเพิ่มบทลงโทษให้กับผู้ประกอบการและผู้ขับขี่ด้วย หากมีการกระทำผิดหรืออุบัติเหตุเกิดขึ้น นอกจากนี้ จะเข้มงวดรถตู้เช่าเหมาให้มากยิ่งขึ้น เพราะการศึกษาพบว่ารถตู้เช่าเหมาก่อปัญหาให้กับความปลอดภัยอย่างมากและเกิดอุบัติเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง

ในส่วนของการศึกษาของ ขบ.นั้น มีเกณฑ์ให้น้ำหนักคะแนนส่วนใหญ่ไปที่การรับฟังเสียงของประชาชน ตามที่ ขบ. ได้เปิดช่องทางนำเสนอหรือร้องเรียน (www.dlt.go.th) เรื่องความปลอดภัยรถตู้ ประกอบกับเรื่องความคุ้มทุนของผู้ประกอบการ เรื่องเชิงเทคนิค และเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น ดังนั้น ภายหลังจาก 6 เดือนจะได้นโยบายที่ชัดเจนว่าการบังคับรถตู้เปลี่ยนเป็นรถมินิบัสจะสามารถดำเนินการต่อตามมาตรการเดิมหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนเป็นภาคสมัครใจ ส่งผลให้ในระหว่าง 6 เดือนนี้ ผู้ประกอบการรายใดที่รถตู้หมดอายุการใช้งาน