‘ครม.เศรษฐกิจ’ ไฟเขียวนโยบายใช้ยางพาราในโปรเจ็กต์คมนาคม ‘บิ๊กตู่’ สั่งงานก่อสร้างเน้นใช้วัสดุไทยไม่น้อยกว่า 30%

ครม.เศรษฐกิจ ไฟเขียวนโยบายแปรรูปยางพาราใช้ในโปรเจ็กต์คมนาคม “ศักดิ์สยาม” เร่งหน่วยงานฯ เคาะสรุปแผนงานก่อนเสนอรายละเอียดต่อไป ด้าน “บิ๊กตู่” กำชับโครงการก่อสร้าง เน้นใช้วัสดุในประเทศไม่น้อยกว่า 30% เตรียมระบุชัดเจนในทีโออาร์ พร้อมสั่งบูรณาการร่วม คมนาคม-พลังงาน-อุตฯ  ลุยใช้พืชพลังงานทดแทน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้านเศรษฐกิจ (16 ส.ค. 2562) โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร หรือยางพารามาใช้กับการดำเนินการในโครงการต่างๆ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยหลังจากนี้ กระทรวงคมนาคมจะต้องจัดทำรายละเอียดว่าจะนำไปใช้กับโครงการใด และที่ไหนบ้าง ซึ่งแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องสรุปข้อมูล ก่อนที่จะเสนอในการประชุมครั้งต่อไป

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กำชับให้กระทรวงคมนาคม ไปพิจารณาโครงการก่อสร้างต่างๆ ตั้งแต่การออกแบบโครงการฯ ที่จะต้องมีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 30% โดยหลังจากนี้ โครงการก่อสร้างที่จะดำเนินการในอนาคตนั้น จะมีการกำหนดรายละเอียดในเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) อย่างชัดเจน ทั้งนี้ โดยส่วนตัวแล้วต้องการให้มีการใช้มากกว่าที่กำหนดไว้ด้วย

ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคมยังได้เสนอเรื่องการพัฒนาพืชพลังงานทดแทนในประเทศ ให้มีความชัดเจน และยั่งยืน รวมถึงเพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือเกษตรกร และประหยัดการนำเข้าพลังงานจากฟอสซิลด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรมไปบูรณาการร่วมกัน

ถนนสาย ศก.4019 จ.ศรีสะเกษ ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ที่มีส่วนผสมของยางพารา (แฟ้มภาพ)

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า กระทรวงฯได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เน้นการใช้ยางพาราในการพัฒนาถนนและซ่อมแซมถนนมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนควบคู่ไปกับการนำยางพารามาใช้ในงานพัฒนาถนนสายรอง เพื่อสนับสนุนการเดินทางของเกษตรกรในท้องถิ่น ตลอดจนนำไปใช้ราดยางแทนถนนลูกรังทั่วประเทศ ทั้งนี้ หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้ครอบคลุมทั้งทางบก น้ำ ราง และอากาศ

สำหรับในปีนี้ ทช.มีเป้าหมายการใช้ยางพาราอยู่ที่ 6,000 ตัน รวมถึงยังมีแผนลงทุน 13,000 ล้านบาทปรับเปลี่ยนราวเหล็กกั้นรถช่วงเค้าโค้ง หรือหลักนำโค้งขอบถนน ที่มีกว่า 800,000 หลักทั่วประเทศ รวมทั้งแบริเออร์เกาะกลางถนน และป้ายบอกทางต่างๆ จากเดิมที่ใช้วัสดุทำจากเหล็ก ปูน และคอนกรีต มาเป็นวัตถุที่มีส่วนผสมของยางพาราในอัตราส่วนที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์ความปลอดภัยบนท้องถนนดังกล่าว มีความยืดหยุ่น คาดว่าจะสามารถลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต กรณีเกิดอุบัติเหตุได้

ในส่วนด้านวัตถุดิบที่ต้องผลิตในประเทศ (local content) นั้น ในอนาคตจะกำหนดให้มีสัดส่วนวัตถุดิบในประเทศไม่ต่ำกว่า 30% ในทีโออาร์การเปิดประมูลงานรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงบางส่วน ก่อนที่กำหนดเป็นกฎหมายเพื่อบังคับให้บริษัทเอกชนที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการทางรางทุกประเภทต้องยึดเงื่อนไข local content ก่อนจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 50% ในอนาคต