‘ผู้ประกอบการรถบรรทุก’ จ่อเสนอ ‘ศักดิ์สยาม’ สร้าง Truck Terminal รอบกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

“สหพันธ์ขนส่งฯ” ชี้ทางสว่าง จ่อเสนอ “ศักดิ์สยาม” สร้าง Truck Terminal รอบกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ผุดพื้นที่นำร่อง 4 แห่ง สาธารณูปโภคครบวงจร ฟากเอกชนพร้อมควักเงินหลายพันล้าน หวังแก้ปัญหาจราจรยั่งยืน

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างยั่งยืนว่า ทางสหพันธ์ฯ เตรียมเสนอแผนให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรงงคมนาคม พิจารณาดำเนินการสร้างนิคมอุตสาหกรรมบริเวณรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) อยู่ในนิคมฯ เพื่อลดปริมาณรถบรรทุกวิ่งเข้ามาในกรุงเทพฯ และสามารถกระจายการขนส่งสินค้าไปยังภูมิภาคได้ทันที 

ทั้งนี้ นิคมฯ ดังกล่าวนั้น เอกชนจะเป็นผู้ลงทุนเอง เพียงแต่ภาครัฐจะต้องพิจารณาหาแนวทางการสนับสนุน อาทิ การอนุญาตให้สามารถใช้พื้นที่ก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าได้ เนื่องจากสถานีขนส่งสินค้าดังกล่าว จะต้องเป็นพื้นที่เฉพาะ โดยไม่มีชุมชนอาศัยอยู่บริเวณนั้น โดยหากสามารถดำเนินการได้ตามแผนนั้น จะถือเป็นส่วนหนึ่งที่แก้ปัญหาจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งส่งเสริมการขนส่งสินค้าด้านโลจิสติกส์ให้ยั่งยืนมากขึ้น

สำหรับการสร้างสถานีขนส่งสินค้านั้น จะต้องเป็นสถานที่ถาวร หลังจากที่ผ่านมา เมื่อพื้นที่บริเวณโดยรอบสถานีขนส่งสินค้า จะมีความเจริญขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ และผู้ประกอบการรถบรรทุก จะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สร้างความเสียหาย อย่างไรก็ตาม กรณีที่กระทรวงคมนาคมเตรียมออกนโยบายกำหนดเวลาให้รถบรรทุกวิ่งส่งสินค้าได้ในช่วงเวลา 00.00-04.00 น. นั้น ยืนยันว่า ผู้ประกอบการรถบรรทุกส่วนใหญ่ ไม่ต้องการที่จะวิ่งรถบรรทุกเข้ามายังกรุงเทพฯ เนื่องจากการจราจรติดขัด ส่งผลให้ในแต่ละวันจำนวนเที่ยววิ่งลดลง และต้นทุนการดำเนินการเพิ่มขึ้น

นายอภิชาติ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของพื้นที่ที่จะสร้างเป็นสถานีขนส่งสินค้านั้น เบื้องต้นแบ่งเป็น 4 แห่ง รอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประกอบด้วย พื้นที่ทางด้านทิศตะวันออก เช่น อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ และ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ขณะที่ด้านทิศเหนือ อาทิ ย่านประตูน้ำพระอินทร์ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนด้านทิศตะวันตก ได้แก่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม และ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี และด้านทิศใต้ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

โดยในแต่ละพื้นที่ใช้พื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ ใช้งบประมาณในการลงทุนประมาณหลักพันล้านบาท สำหรับนิคมอุตสาหกรรมสถานีขนส่งสินค้า จะประกอบไปด้วย ระบบสาธารณูปโภคที่ครบวงจร ทั้งระบบไฟฟ้า ประปา ที่พักอาศัย รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องน้ำ ร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ และร้านสะดวกซื้อ เพื่อรองรับพนักงานที่จะทำงานที่นิคมฯ กว่าหลายหมื่นคน