NEDAเปิดใช้ถนนเชื่อมเมืองมรดกโลก วิ่งฉิว! 3 ชั่วโมง ‘น่าน-หลวงพระบาง’

NEDA เปิดใช้ถนนเส้นทางเชื่อมเมืองมรดกโลก “หงสา-บ้านเชียงแมน” 114 กม. แล่นฉิวจากหน้าด่านห้วยโก๋น จ.น่าน-หลวงพระบาง แค่ 3 ชั่วโมง คาดกระตุ้นท่องเที่ยวคึกคัก 20% ดึงทัวร์จีน-ยุโรป ด้านรัฐบาล สปป.ลาว ชง “บิ๊กตู่” เคาะลงทุนสะพานข้ามโขง 1,000 ล้านบาท

นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. (NEDA) เปิดเผยว่า ล่าสุดได้ทำการเปิดใช้เส้นทางถนนสายใหม่จากเมืองหงสา-บ้านเชียงแมน (เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง) สปป.ลาว ระยะทาง 114 กม. วงเงิน 1,977 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว รวมถึงการเชื่อมต่อไปยังเวียดนาม และจีนด้วย สำหรับเส้นทางดังกล่าว หลังจากผ่านจุดผ่านแดนห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน แล้ว มีจุดเริ่มต้นโครงการที่บริเวณบ้านนาปุง เมืองหงสา แขวงไชยะบุรี และมีจุดสิ้นสุดที่บ้านเชียงแมน เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง ระยะทาง 114 กม.

ทั้งนี้ เมืองหลวงพระบางนั้น ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และจะเป็นการส่งเสริมยุทธศาสตร์การเป็นเมืองคู่แฝดระหว่าง จ.น่าน และแขวงหลวงพระบาง โดยถนนจากเมืองหงสา-บ้านเชียงแมน นอกจากจะส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้วนั้น ยังจะเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงโครงข่ายถนนใน สปป.ลาว ทำให้การเดินทางจากไทยไปยังกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ผ่านถนนหมายเลข 4 และ 6 ดังนั้นจึงคาดว่าเส้นทางแห่งนี้ จะสามารถกระตุ้นยอดนักท่องเที่ยวของไทย และ สปป.ลาว 10-20% อีกทั้ง ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ เช่น ชาวจีน ชาวเวียดนาม และชาวยุโรปได้อีกด้วย
สำหรับการก่อสร้างเส้นทางดังกล่าวนั้น ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2558 และแล้วเสร็จตั้งแต่ช่วงปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา และทยอยเปิดใช้ไปบ้างแล้ว โดยเส้นทางดังกล่าวจะเป็นการลดระยะเวลาเดินทางได้ 50% จากด่านชายแดนห้วยโก๋น จ.น่าน-เมืองหลวงพระบาง จากเดิม 5-6 ชม. เหลือใช้เวลาเพียง 3 ชม. ทั้งนี้ ถนนเส้นดังกล่าว เป็นถนนลาดยาง 2 ช่องจราจร พร้อมระบบป้องกันความปลอดภัย เช่น ไม้กั้นตามแนวทางโค้ง รวมถึงทางลาดชันที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย เป็นต้น

ขณะที่การลงทุนนั้น นายพีรเมศร์ กล่าวว่า NEDA ได้ให้วงเงินช่วยเหลือ 1,977 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นเงินกู้ 1,581.60 ล้านบาท หรือ 80% ของวงเงินทั้งหมด โดยปลอดหนี้ 10 ปี ดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี ส่วนอีก 395.40 ล้านบาท เป็นเงินให้เปล่า ซึ่งการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทยไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าสัญญา

นายพีรเมศร์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่จัดขึ้นในประเทศไทย เมื่อช่วงที่ผ่านมานั้น รัฐบาล สปป.ลาวได้ยื่นข้อเสนอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่วมกันพัฒนาโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงช่วงบ้านเชียงแมน-หลวงพระบาง ระยะทาง 600 เมตร วงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างออก แบบโครงการคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 12 เดือนก่อนเริ่มก่อสร้างโครงการภายใน 2 ปีนับจากนี้ เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วจะเพิ่มความสะดวกสบายในการสัญจรระหว่าง จ.น่าน-เมืองหลวงพระบางได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

สำหรับจุดประสงค์ในการก่อสร้างสะพานเชียงแมน-หลวงพระบาง ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่เชื่อมต่อกับถนนจากเมืองหงสา-บ้านเชียงแมนกับถนนหมายเลข 13 (แม่น้ำโขงมีความกว้างประมาณ 540 มตร) นั้น เพื่ออำนวยความสะดวก ด้านการคมนาคมขนส่ง ทั้งยังเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงระหว่าง จ.น่าน-เมืองมรดกโลกหลวงพระบาง เป็นถนนที่ สพพ.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินไปก่อนหน้านี้ โดยสะพานดังกล่าว จะตั้งอยู่เหนือท่าอากาศยานนานาชาติหลวงพระบาง และเหนือบริเวณท่าแพขนานยนต์ (เดิม) ซึ่งเป็นท่าเรือที่สามารถดินทางไปยังฝั่งพระราชวังหลวงพระบาง

ด้านนายวงสะหวัน เทพพะจัน รองเจ้าแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว กล่าวว่า ตั้งแต่หลวงพระบางได้รับเป็นเมืองมรดกโลก ส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ปัจจุบันชาวจีนครองอันดับ 1 ที่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวหลวงพระบาง หลังจากเมื่อ 2-3 ปี ที่ผ่านมา เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีถนนเส้นทางดังกล่าวนั้น จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการสัญจร รวมทั้งทำให้การเดินทางมีความสะดวกสบาย ตลอดจนมีการค้า การลงทุน ทั้งด้านคมนาคมขนส่ง และรถโดยสารเพิ่มขึ้น

ขณะที่ นายแพง ดวงเงิน อธิบดีกรมขัวทาง กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง กล่าวว่า เส้นทางเมืองหงสา-บ้านเชียงแมนนี้ จะส่งเสริมการท่องเที่ยวและประชาชนได้ใช้ประโยชน์จริง เนื่องจากประชาชนมีความต้องการมานาน จากเดิมที่การสัญจรมีความยากลำบาก ซึ่ง สปป.ลาว ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความสนับสนุนจากประเทศไทยในการพัฒนาถนนสายดังกล่าว สามารถเปิดจุดท่องเที่ยวใหม่ตามเส้นทางได้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของ สปป.ลาว