ทย.ผุด ‘สนามบินนครปฐม’ บรรเทาแออัด ‘ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ’ เคาะสรุปพื้นที่ ต.ค.นี้

“กรมท่าอากาศยาน” ลุยศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้ง “สนามบินนครปฐม” บรรเทาความแออัด “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ” เดินหน้าหยั่งเสียงประชาชน คาดเคาะพื้นที่สนามบินฯ ต.ค.นี้

ดร.จรุณ มีสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน หรือ ทย. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างที่ปรึกษาโครงการฯ เปิดเผยว่า กรมท่าอากาศยานได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินนครปฐม สืบเนื่องจากปัจจุบันท่าอากาศยานหลัก ทั้งท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ทำให้เกิดความแออัดของการจราจรทางอากาศในบริเวณท่าอากาศยาน ดังนั้น กรมท่าอากาศยานจึงได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของการมีท่าอากาศยาน เพื่อบรรเทาความคับคั่งของท่าอากาศยานหลัก

สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินนครปฐม เป็นการศึกษาความต้องการใช้ท่าอากาศยาน และเปรียบเทียบพื้นที่ทางเลือกที่มีศักยภาพในการก่อสร้างสนามบิน โดยพิจารณาในหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแบบก่อสร้าง เพื่อบรรเทาความคับคั่งของท่าอากาศยานหลัก และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน 

ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าว มีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2561 – 20 ธันวาคม 2562 รวม 450 วัน แบ่งเป็น 6 ขั้นตอน ดังนี้ 1.ศึกษาวิเคราะห์และทบทวนข้อมูลความต้องการ (Demand) ของการใช้ท่าอากาศยานสำหรับรองรับการบินเชิงธุรกิจ (Business Aviation) การบินทั่วไป (General Aviation)  และความเหมาะสมของการมีท่าอากาศยานเพื่อบรรเทาความคับคั่ง (Reliever airport) ของท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ 2.สำรวจออกแบบระบบท่าอากาศยานและจัดทำแบบรูปรายละเอียดเบื้องต้น เช่น การสำรวจสภาพภูมิประเทศ จัดทำแผนที่ของที่ดิน ออกแบบในรายละเอียดด้านวิศวกรรม จัดทำแบบแปลนและเอกสารต่างๆ สำรวจสิ่งกีดขวาง เป็นต้น

3.งานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ประกอบด้วย การรวบรวมข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบ มาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบ แผนการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่ง และการคาดการณ์ผลกระทบเสียงจากเครื่องบินบริเวณพื้นที่โครงการ  รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 4.ศึกษาวิเคราะห์ทางเลือกที่จะเป็นไปได้ในการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการลงทุน และดำเนินการโครงการ

5.ศึกษาวิเคราะห์ และจัดทำรายงานการศึกษาตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 โดยจัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ตามรายละเอียดที่ต้องมีในผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการของหน่วยงานเจ้าของโครงการ พ.ศ.2560 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐได้ประกาศกำหนด ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2556 และสาระอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 6.จัดทำร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุน ร่างขอบเขตของโครงการและเงื่อนไขสำคัญและร่างสัญญาการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา กรมท่าอากาศยานได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในโครงการ และเกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนการศึกษาวิเคราะห์และจัดประชุมกลุ่มย่อยร่วมกับชุมชนในแต่ละพื้นที่ทางเลือก เพื่อรวบรวมจัดทำข้อสรุปหาตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสมที่สุด และจะดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ประมาณเดือนตุลาคม 2562 ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินนครปฐมต่อไป