ดัน! ยุทธศาสตร์คมนาคม 20 ปี ขับเคลื่อนโลจิสติกส์สู่ฮับ GMS

       ภายใต้การบริหารในยุคของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้มุ่งเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่มีเม็ดเงินการลงทุนมากมายมหาศาลสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี พ.ศ.2560 – 2579 ที่กระทรวงคมนาคมได้จัดทำขึ้น ภายใต้แนวคิดการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัย (Green Transport) การขนส่งที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์และการขนส่งที่สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้ทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต พฤติกรรมการเดินทาง และความต้องการในการเดินทางของประชาชน
       ทั้งนี้ จากยุทธศาสตร์ดังกล่าว นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี เป็นกรอบแนวคิดการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยในอนาคต โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต พฤติกรรมการเดินทาง และความต้องการในการเดินทางของประชาชน ภายใต้ 3 แนวคิด คือ การขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transport) มุ่งเน้นการลดใช้พลังงานฟอสซิล ปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานทางเลือก และส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ (Transport Efficiency) เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์  โดยลดต้นทุนโลจิสติกส์ ส่งเสริมการขนส่งทางรางและทางน้ำให้เป็นรูปแบบการขนส่งหลัก โดยมีการขนส่งทางถนนเป็นระบบสนับสนุน และการเข้าถึงระบบขนส่งอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม (Inclusive Transport) การยกระดับการขนส่งให้สามารถรองรับผู้ใช้งานได้ทุกกลุ่ม ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการระบบขนส่งมวลชนและระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวก มีค่าโดยสารที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
      อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปีนั้น ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ดังนี้ 1.การบูรณาการระบบคมนาคมขนส่ง (Integrated Transport Systems) 2.การบริการของภาคคมนาคมขนส่ง (Transport Service) 3.การพัฒนา ปรับปรุงกฎหมาย และปฏิรูปองค์กร (Regulations and Institution) 4.การพัฒนาบุคลากร (HumanResource Development) และ 5. การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้พัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง (Technology) ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะนำไปสู่โอกาสการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและวิสัยทัศน์ประเทศไทยที่กล่าวว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ต่อไป
ขับเคลื่อนโลจิสติกส์กลุ่ม GMS 
       สำหรับนโยบายด้านการขนส่งของกระทรวงคมนาคมนั้น ไม่เพียงแค่ภายในประเทศเท่านั้น แต่รัฐบาลยังสนับสนุนและศักยภาพและโอกาสการขนส่งไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เพื่อการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ของ 6 ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้าทางถนนรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนส่งเห็นถึงโอกาสและความท้าทายในการประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศสมาชิกใน GMS
นายอาคม ระบุว่า การพัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้าทางถนนรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้านนั้น เพื่อเป็นการยกระดับและพัฒนากลไกในการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าทางถนนด้วยรถบรรทุกระหว่างประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ตามกรอบความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, ราชอาณาจักรกัมพูชา, สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, สาธารณรัฐประชาชนจีน (ตอนใต้) และราชอาณาจักรไทย โดยประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การขนส่งสินค้า (Transit Country) ของกลุ่มประเทศดังกล่าว
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากในการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการลดความแออัดบริเวณด่านชายแดน ซึ่งได้มีการลงทุนไปมากกว่า 1 แสนล้านบาท ตามแนวเส้นทางการค้าชายแดนที่สำคัญในการขนส่ง GMS และอยู่ในแผนเส้นทางใหม่ในระเบียงเศรษฐกิจ GMS ประกอบด้วย
       1. ด่านชายแดนเชียงของมีการลงทุนรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 8.5 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ อยู่ระหว่างเวนคืนพื้นที่เพื่อก่อสร้าง ควบคู่ไปกับการลงทุนก่อสร้างศูนย์เชียงของ 1.4 พันล้านบาท ซึ่งจะเปิดบริการได้ในปี 2563 รองรับการขนส่งทางบกและทางราง
       2.ด่านชายแดนนครพนม มีการลงทุนรถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 6.8 หมื่นล้านบาท ควบคู่กับการพัฒนาศูนย์ขนส่งสินค้า จ.นครพนม วงเงิน 846 ล้านบาท ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติโครงการไปแล้ว รองรับการขนส่งสินค้าจากชายแดนไปสู่ท่าเรือแหลมฉบังด้วยระบบราง
       3.ด่านชายแดนแม่สอด เป็นหนึ่งในเส้นทางขนส่งยุทธศาสตร์ (Asean East-West Economic Corridor : EWEC) นั้น ล่าสุดได้เปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 วงเงินลงทุน 1.1 พันล้านบาท เชื่อมการขนส่งระหว่างแม่สอด-ย่างกุ้ง-มหาสมุทรอินเดีย และแก้ไขปัญหาความแออัดหน้าด่าน 4.ด่านชายแดนปอยเปต มีการลงทุนก่อสร้างสะพานข้ามคลองพรหมโหด จ.อรัญประเทศ เพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้า ไทย-กัมพูชา คาดว่าจะเปิดใช้ด่านการค้าแห่งใหม่นี้ในปี 2564 และ 5.ด่านชายแดนหนองคาย มีการลงทุนก่อสร้างสะพานทางรถไฟข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมหนองคาย-เวียงจันทน์ วงเงินลงทุนมากกว่า 1 พันล้านบาท พร้อมสถานีขนส่งสินค้าและสถานีผู้โดยสารแยกกัน รองรับทั้งระบบรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-ลาว-จีน
ดันไทยสู่ฮับขนส่ง GMS
       นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก หรือ ขบ. กล่าวว่า ในส่วนของความคืบหน้าความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) ในกลุ่ม GMS นั้น ขณะนี้ได้เริ่มใช้การแลกเปลี่ยนสิทธิจราจรระหว่างกันแล้วประเทศละ 500 ราย ได้แก่ ไทย สปป.ลาว เวียดนาม และจีน ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตสามารถขนส่งสินค้าระหว่างกันได้แล้ว ขณะที่กัมพูชานั้นได้เริ่มกับประเทศไทยก่อนพร้อมลงนามความตกลงร่วมกันระหว่างปี 2562-2564 โดยมีการกำหนดใบอนุญาตไว้ที่ประเทศละ 500 ราย ขณะที่เมียนมาขอทำความร่วมมือแบบทวิภาคีกับไทยก่อนกำหนดสัดส่วนใบอนุญาตจำนวน 100 ราย ตอนนี้เริ่มมีผลแล้ว ดังนั้นไทยจะพร้อมเป็นฮับขนส่งของ GMS
       ขณะที่ แผนพัฒนาศูนย์ขนส่งและเปลี่ยนถ่ายสินค้าในปีนี้นั้น ขบ.จะผลักดันแผนลงทุนศูนย์ขนส่งและเปลี่ยนถ่าย 2 แห่ง ได้แก่ ชายแดนมุกดาหาร และชายแดนหนองคาย วงเงินลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 1.5 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้หน่วยงานบูรณาการด้านขนส่งสินค้าแบบ One Transport กล่าวคือ ทุกศูนย์ขนส่งสินค้าทางบกและทางรถไฟ จะต้องมีถนนทางหลวงและถนนทางหลวงชนบทรองรับทุกแห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ ดังนั้นจึงมีการสั่งให้ศึกษาและเร่งลงทุนถนนทั้งสองประเภทดังกล่าวให้เข้าถึงทั้งสถานีสินค้าและสถานีขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งขณะนี้อยู่ภายใต้การศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.