ปิดดีล! ‘ศักดิ์สยาม’ นั่งเจ้ากระทรวงคมนาคม-‘ถาวร’ ปชป. คว้าเก้าอี้ รมช. ด้าน ‘อาคม’ มอบงาน 14 มิ.ย.นี้

ปิดดีล! รัฐบาล “บิ๊กตู่” พปชร. มอบ “ศักดิ์สยาม” ผงาดนั่งรัฐมนตรีคมนาคม ด้าน “ถาวร” คว้าเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยฯ ฟาก “อาคม” เตรียมส่งมอบงาน 14 มิ.ย.นี้

แหล่งข่าวกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 นั้น ในส่วนโควต้ารัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐนั้น ล่าสุดได้รับรายงานมาว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย จะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ ซึ่งนายศักดิ์สยาม ถือเป็นน้องชายนายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันพรรคภูมิใจไทยในเวทีการเมือง

“สาเหตุที่แต่งตั้งนายศักดิ์สยามนั้น เพราะเป็นการยึดดีลเดิมที่ตกลงกันไว้ในการจัดตั้งรัฐบาล อีกทั้งนายศักดิ์สยาม ยังเหมาะสมกว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งอาจจะถูกข้อครหามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับเรื่องบริษัทของตัวเอง คือ บริษัท ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ จึงไม่เหมาะสมที่จะมานั่งเก้าอี้คุมงบกระทรวงที่มีงานก่อสร้างหลายแสนล้านบาท” แหล่งข่าว กล่าว

สำหรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมนั้น แหล่งข่าว กล่าวว่า ดีลล่าสุด ได้ตกลงมอบเก้าอี้ให้กับตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยในวันศุกร์ที่ 14 มิ.ย.นี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนปัจจุบัน จะมีการเข้าพบกับว่าที่รัฐมนตรีใหม่ เพื่อร่วมกันหารือแนวทางการทำงานของกระทรวงคมนาคมและฝากภาระงานที่ได้ดำเนินการมาแล้วให้ขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคม ระบุว่า กระทรวงคมนาคมถือว่าเป็นกระทรวงเกรดเอที่มีงบประมาณจำนวนมาก ดูแลโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กส์ระดับชาติ ตลอดจนสามารถสร้างฐานความชอบได้จากการลงทุนในท้องถิ่น ดังนั้นจึงเป็นที่ต้องการของหลายพรรคการเมือง ขณะนี้มีโครงการลงทุนที่ดูแลทั้ง รถไฟฟ้าเมืองหลวง รถไฟฟ้าความเร็วสูง 2 สาย รถไฟทางคู่สายใหม่ 14 สาย มอเตอร์เวย์ 4 เส้นทางใหม่ แผนก่อสร้างสนามบินใหม่ ตลอดจนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์แปลงงามในเมืองหลวง มูลค่ารวมกันมากกว่า 1 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 2 ล้านล้านบาท ตามแผนลงทุนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี

ขณะที่ งบประมาณประจำปี 2562 ของกระทรวงคมนาคม วงเงิน 209,323 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณส่วนราชการ วงเงิน 183,732 ล้านบาท และงบประมาณส่วนรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 25,590 ล้าน สำหรับหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด ได้แก่ กรมทางหลวง หรือ ทล. ได้รับการจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 119,091 ล้านบาท คิดเป็น 56% ของงบประมาณทั้งหมด รองลงมาคือ กรมทางหลวงชนบท หรือ ทช. ได้รับการจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 48,089 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่ากระทรวงคมนาคมยังมีภาระหนี้สินของหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลมากกว่า 3 แสนล้านบาท ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.