‘กรมราง’ ลั่นระฆัง! ปล่อยขบวนรถไฟขนทุเรียน ‘มาบตาพุด-จีน’ กว่า 1,750 กม. ลดปล่อยคาร์บอนกว่า 1,600 ตัน/ปี

“กรมราง” ลั่นระฆัง! ปล่อยขบวนรถไฟขนทุเรียน “มาบตาพุด-จีน” ระยะทางกว่า 1,750 กม. ใช้เวลาเพียง 3-4 วัน แทนการขนส่งทางถนน-ทางเรือ ชูความเสี่ยงน้อย-ไร้ปัญหาหน้าด่านชายแดน ลดมลภาวะได้มากถึง 64.6% เผยยอดส่งออกทุเรียนพุ่งแตะ 1.76 ล้านตันในปี 68 ด้าน รฟท. เตรียมจัดหาแคร่ขนสินค้า 946 คัน คาดทยอยรับล็อตแรก 300 คันช่วงกลางปี 69

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า วันนี้ (8 พ.ค. 2568) ขร. ได้จัดกิจกรรม “DRT ขับเคลื่อนการขนส่งทุเรียนทางราง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลภาวะทางอากาศ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” และพิธีปล่อยขบวนรถไฟขนส่งทุเรียนไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนของบริษัท แพน-เอเชีย ซิลค์โรด จำกัด (PAS) และพันธมิตร ณ สถานีรถไฟมาบตาพุด จ.ระยอง

สำหรับการดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นการต่อยอดจากโครงการศึกษาและจัดทำมาตรการกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดมลภาวะทางอากาศในภาคขนส่งทางราง เพื่อนำผลการศึกษาจากโครงการฯ มาประยุกต์ใช้จริงในเชิงนโยบายและปฏิบัติการ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของระบบรางในฐานะทางเลือกเชิงกลยุทธ์สำหรับการขนส่งสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาในมิติด้านต้นทุน ความน่าเชื่อถือด้านเวลา ปริมาณการขนส่งต่อเที่ยว และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า การขนส่งสินค้าทางรางจากสถานีรถไฟมาบตาพุดไปยังประเทศจีน จะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 วัน ซึ่งเร็วกว่าการขนส่งสินค้าทางทะเล รวมถึงการขนส่งสินค้าทางถนนนั้น มักจะมีข้อจำกัดด้านต้นทุน เวลา และความเสี่ยงต่อคุณภาพของผลไม้ เนื่องจากติดปัญหาความล่าช้าบริเวณด่านชานแดน อาจทำให้ทุเรียนหรือผลไม้เน่าเสียได้ จึงทำให้ผู้ประกอบการหันมาปรับเปลี่ยนการขนส่งผลไม้และทุเรียนผ่านทางรางมากขึ้น

ทั้งนี้ การขนส่งสินค้าที่สถานีรถไฟมาบตาพุดนั้น ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจะมีการจองแคร่ ขนส่งสินค้าเพื่อใช้ขนส่งทุเรียนไปยังประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพื่อการขนส่งสินค้าประเภทปิโตรเคมี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เกลือ และแร่ ซึ่งข้อได้เปรียบของสถานีรถไฟมาบตาพุด คือ อยู่ใกล้กับแหล่งผลิตทุเรียนทางภาคตะวันออก เช่นเดียวกับสถานีรถไฟแหลมฉบัง ที่มีความต้องการใช้บริการแคร่ขนส่งสินค้าเพิ่มสูงมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูทุเรียน

สำหรับเส้นทางการขนส่งสินค้าทางรถไฟจากสถานีรถไฟมาบตาพุดไปยังประเทศจีน รวมระยะทางกว่า 1,750 กิโลเมตร (กม.) จะวิ่งบนเส้นทางเดี่ยวไปยังศรีราชา จากนั้นจะเชื่อมต่อกับเส้นทางคู่ เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย ขึ้นสู่ภาคอีสาน ผ่าน จ.นครราชสีมา-หนองคาย จากนั้นสินค้าจะถูกลำเลียงข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ไปยังเวียงจันทน์ (Vientiane Logistics Park – VLP) เพื่อตรวจพิธีการศุลกากร ก่อนจะเดินทางต่อไปยังบ่อเต็น (ชายแดน สปป.ลาว) เข้าสู่โม่ฮาน (ชายแดนจีน) เพื่อตรวจพิธีการศุลกากรอีกครั้ง ก่อนจะกระจายสินค้าไปยังเมืองต่างๆ ในประเทศจีน

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า ทุเรียน ถือเป็นผลไม้ส่งออกที่มีมูลค่าสูงที่สุดของประเทศไทยและเป็นผลไม้ที่มีความต้องการสูงในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกถึง 97% โดยในปี 2567 มีมูลค่าส่งออกทุเรียนสดและแช่แข็งรวมกว่า 157,506 ล้านบาท โดยเฉพาะทุเรียนสดที่มีมูลค่าสูงสุดใน พ.ค. 2567 ถึงกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2568 ผลผลิตทุเรียนทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นกว่า 37% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นปริมาณรวมประมาณ 1.767 ล้านตัน

ขณะเดียวกัน ในระยะหลังประเทศไทยจึงได้หันมาปรับเปลี่ยนการขนส่งผลไม้และทุเรียนผ่านทางราง แทนการขนส่งทางถนนให้มากยิ่งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2566 นั้น ปริมาณการขนส่งผลไม้ทางรางระหว่างไทยไปยัง สปป.ลาว มีปริมาณการขนส่งมากถึง 708 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือประมาณ 17,700 ตัน และในปี 2567 มีปริมาณการขนส่งผลไม้ทางรางจำนวน 1,108 ตู้คอนเทนเนอร์  หรือประมาณ 27,700 ตัน ซึ่งถือได้ว่าปริมาณการขนส่งผลไม้ทางรางนั้นเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี

นอกจากนี้ ในส่วนของการขนส่งทางรางจากการศึกษาเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการขนส่งสินค้าทางถนนและทางราง พบว่า การขนส่งสินค้าทางถนนปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ย 2.71 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อตู้คอนเทนเนอร์ ขณะที่การขนส่งทางรางปล่อยเพียง 0.96 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ลดลงได้มากกว่า 64.6% ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ระบบรางเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

อย่างไรก็ตาม หากเป้าหมายการขนส่งทุเรียนทางรางจำนวน 23,000 ตันในปี 2568 บรรลุผลสำเร็จ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1,610 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหม่เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนกว่า 26,680 ตัน ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

นายพิเชฐ กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีโครงการจัดหารถโบกี้บรรทุกสินค้า (บทต.) หรือแคร่ขนสินค้า 946 คัน วงเงินประมาณ 2.4 พันล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เสนอเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ตั้งแต่ประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา และผ่านการสอบถามความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ขณะนี้ รอการบรรจุเข้าเป็นวาระในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้ คาดว่าหาก ครม. เห็นชอบ จะสามารถเปิดประมูลการจัดหาฯ ได้ภายในปี 2568 และจะเริ่มทยอยรับแคร่ขนสินค้าลอตแรกประมาณ 300 คันได้ในช่วงกลางปี 2569 ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางได้มากขึ้นอีกประมาณ 10%