‘คมนาคม’ ลุยพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ‘ท่าเรือกรุงเทพ’ 520 ไร่ เร่งศึกษาเสร็จ พ.ค.69 ยัน! ไม่ย้าย-ไม่กระทบชุมชน
“คมนาคม” เดินเครื่องแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ “ท่าเรือกรุงเทพ” พื้นที่ 520 ไร่ ทุ่มงบ 20 ล้านจ้างที่ปรึกษาศึกษา-ออกแบบ คาดแล้วเสร็จ พ.ค. 69 ยัน! ไม่ย้ายท่าเรือ-ไม่กระทบชุมชน ลุยใช้เทคโนโลยียกระดับ Smart Port เชื่อมต่อทางด่วน-ระบบราง-แทรม รองรับอนาคตเมืองทันสมัยริมเจ้าพระยา
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ครั้งที่ 1/2568 วันนี้ (6 พ.ค. 2568) ว่า ได้มอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ไปดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนแผนแม่บทการท่าเรือฯ และศึกษารายละเอียด พร้อมทั้งออกแบบการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ พื้นที่ประมาณ 520 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณหน้าท่า โดยจะใช้งบประมาณการศึกษา 20 ล้านบาท คาดว่า จะใช้ระยะเวลาศึกษา 10 เดือน แล้วเสร็จภายใน พ.ค. 2569
ทั้งนี้ เดิม กทท. เคยมีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ของ กทท. ในเขตท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) พื้นที่ทั้งหมด 2,353 ไร่ เมื่อปี 2562 แต่แผนการพัฒนาในระยะแรกจะมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาพื้นที่บริเวณหน้าท่า พื้นที่ 520 ไร่ ซึ่งไม่กระทบกับชุมชนในบริเวณดังกล่าว และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ หรือ Smart Commercial
โดยจะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการ เช่น การยกชั้นที่วางตู้คอนเทนเนอร์ ลดการใช้พื้นที่ราบ รวมถึงแนวคิดพัฒนา Cruise Terminal, พื้นที่ค้าปลีก, อาคารสำนักงาน, พื้นที่โครงการที่พักอาศัย, ห้างสรรพสินค้า, โรงแรม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงแนวทางพัฒนา Entertainment Complex ด้วย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า “ไม่มีการย้ายท่าเรือ” แต่จะเน้นการพัฒนาให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพมากขึ้น
นางมนพร กล่าวต่อว่า ที่ประชุมในวันนี้ คณะอนุกรรมการ 4 ชุดที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเมื่อครั้งประชุมครั้งที่ 1/2567 ได้มารายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน ประกอบด้วย การดำเนินตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ พ.ร.บ. การท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา รวมถึงวิเคราะห์รูปแบบการลงทุน (Business Model) ที่เหมาะสม และการสำรวจออกแบบพื้นที่พัฒนา
นอกจากนี้ ยังดำเนินการสำรวจบัญชีโรงเรือนและผู้พักอาศัยในพื้นที่การท่าเรือรวม 27 ชุมชน กว่า 15,000 ครัวเรือน เพื่อประเมินผลกระทบและวางแนวทางจัดการชุมชนอย่างเหมาะสม โดยย้ำว่า พื้นที่ 520 ไร่ที่จะพัฒนานั้น “ไม่เกี่ยวข้องกับชุมชน” จึงไม่มีผลกระทบโดยตรง ทั้งนี้ ยังมีการวางแผนพัฒนา Smart Community ในอนาคต แต่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนดำเนินการ ขณะเดียวกัน เห็นชอบให้เร่งผลักดันการเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพกับทางด่วน S1 (บางนา–อาจณรงค์) ซึ่งผ่านการอนุมัติ EIA แล้ว พร้อมเสนอให้ศึกษาระบบรางรองรับตู้สินค้า และโครงข่ายแทรมเชื่อมต่อ MRT – BTS ในโซนคลองเตย–พระโขนง–ศูนย์ประชุมฯ สิริกิติ์ เพื่อบูรณาการคมนาคมในพื้นที่
อีกทั้ง เดินหน้าสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ โดยได้สื่อสารกับ 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ พนักงาน กทท., ชุมชนรอบท่าเรือ, และประชาชนทั่วไปในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล โดยเน้นสร้างความเข้าใจว่า “ไม่ย้ายท่าเรือ” พร้อมเผยแพร่วิสัยทัศน์ “การท่าเรือ เพื่อโอกาสประเทศไทย” ผ่าน 6 มิติ ได้แก่ การลด PM2.5, แก้ไขปัญหาจราจร, การพัฒนา Smart Port และ Green Port, การส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการค้า-ท่องเที่ยว, การปรับภูมิทัศน์ในพื้นที่ และเพิ่มความปลอดภัย