’แลนด์บริดจ์‘ 1 ล้านล้านใกล้เป็นจริง! รัฐเร่ง พ.ร.บ. SEC ชง ครม. ไฟเขียว พ.ค.นี้ จ่อเปิดใช้เฟสแรกปี 73 ปั้น ‘ภาคใต้’ ก้าวสู่ฮับโลจิสติกส์ระดับโลก

“คมนาคม“ เดินหน้าร่าง พ.ร.บ. SEC เปิดรับฟังความคิดเห็นครบทุกมิติ ชี้หยั่งเสียงผ่านเว็บไซต์กว่า 8 พันเสียง หนุนร่างกฎหมาย เตรียมเสนอ ครม. ภายใน พ.ค.นี้ ดัน ”โครงการแลนด์บริดจ์“ มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท พร้อมแผนดึงเอกชนร่วม PPP คาดเริ่มสร้างปี 70 เปิดใช้เฟสแรกปี 73 เชื่อม 2 ฝั่งทะเล สร้างฮับโลจิสติกส์ระดับโลก 

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระนอง ชุมพร และนครศรีธรรมราช เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) เพื่อเชื่อมการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) และการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. วันนี้ (24 เม.ย. 2568) ว่า ขณะนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการศึกษาการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ และจัดทำร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. ….

ทั้งนี้ สนข. ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) และจัดเตรียมเอกสารและให้คำปรึกษาในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ประกอบด้วย การทบทวน ปรับปรุง และสนับสนุนกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. และร่างข้อเสนอรูปแบบการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้

ด้านนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำร่าง พ.ร.บ. SEC ว่า ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ประกอบกับในช่วงก่อนหน้านี้ สนข.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร และระนอง ผ่านทางเว็บไซต์ โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ พบว่า ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 9,000 คน ซึ่งประมาณ 8,000 คน เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฯ และอีกประมาณ 700-800 คน ได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงแสดงความห่วงใยในประเด็นต่าง ๆ เช่น ผลกระทบต่อการประมงพื้นบ้าน การเวนคืนที่ดิน และสิทธิในการทำมาหากินของประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น

ทั้งนี้ ภายหลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ. SEC คาดว่า จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน พ.ค. 2568 และหากได้รับความเห็นชอบ จะส่งต่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ก.ค. 2568 ก่อนส่งให้วุฒิสภาพิจารณา และเข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ และมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยมีเป้าหมาย เพื่อใช้เป็นกฎหมายเฉพาะบริหารจัดการพื้นที่ พร้อมดึงดูดการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับเนื้อหาสำคัญของร่าง พ.ร.บ. SEC มีทั้งหมด 8 หมวด 71 มาตรา กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ พร้อมจัดตั้งสำนักงาน SEC รับหน้าที่ดูแลการวางแผน พัฒนาพื้นที่ และบริหารการลงทุน ขณะเดียวกัน จะมีการตั้งกองทุนส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อใช้สนับสนุนโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่ ช่วยให้การพัฒนาดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง

นายปัญญา กล่าวต่อว่า เมื่อ พ.ร.บ.SEC มีผลบังคับใช้แล้ว รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการ Land Bridge เชื่อมการขนส่งจากฝั่งอ่าวไทยไปยังฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และเป็นโครงการเรือธงของรัฐบาล โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชุมพร (แหลมริ่ว) ทางฝั่งอ่าวไทย และท่าเรือน้ำลึกระนอง (อ่าวอ่าง) ทางฝั่งอันดามัน ซึ่งทั้งสองฝั่งจะเชื่อมต่อด้วย มอเตอร์เวย์และรถไฟรางกว้าง ระยะทางเพียง 90 กิโลเมตร (กม.) โดยการขนส่งสินค้าจะใช้เวลาแค่ 1–2 ชั่วโมง ทำให้ไม่ต้องอ้อมเรือผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาเดินทางได้ถึง 3 วัน และประหยัดต้นทุนได้กว่า 15%

สำหรับความคืบหน้าโครงการ Land Bridge ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดโครงการ และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) หลังจากนั้น จะสามารถเริ่มกระบวนการประกวดราคาได้ในช่วงปี 2569 ในรูปแบบ PPP โดยเปิดประมูลเป็นแพ็กเกจเดียวมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ครอบคลุมทั้งท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพรและระนอง ระบบมอเตอร์เวย์ และรถไฟ ทั้งนี้ การประมูลเฟสแรก จะมีมูลค่าประมาณ 500,000 ล้านบาท ก่อนขยายการดำเนินการครบ 4 ระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะเริ่มการก่อสร้างในปี 2570 และเปิดใช้บริการในระยะแรกได้ประมาณปี 2573

ในส่วนของโครงการ Land Bridge เชื่อว่า จะสร้างงานจำนวนมหาศาล ทั้งในภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง และธุรกิจบริการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น ซ่อมบำรุงเรือ การท่องเที่ยว เป็นต้น คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการที่ลูกเรือต่างชาติพักในพื้นที่ 5–6 วัน นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโตอย่างเป็นระบบ เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เกิดขึ้น เมืองต่าง ๆ ในภาคใต้ก็จะได้รับการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะสนับสนุนให้ภาคใต้เป็นประตูการค้าสำคัญของโลก พร้อมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีเศรษฐกิจโลกในอนาคต