‘คมนาคม‘ เปิดตัวเลขภาพรวมเดินทางช่วงสงกรานต์ 68 พบใช้ขนส่งสาธารณะในประเทศ 14.6 ล้านคน ส่วนจราจร 11 ถนนสายหลัก-ทางด่วน ลดลงจากปีที่แล้ว

“คมนาคม” สรุปตัวเลขภาพรวมการเดินทางบนโครงข่ายของกระทรวงคมนาคม ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 68 รวม 6 วัน พบประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะในประเทศ 14.6 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 1.72% ใช้ถนนสายหลัก 11 เส้นทางเข้า-ออกกรุงเทพฯ กว่า 5.86 ล้านคัน ใช้ทางด่วน 7.6 ล้านคัน

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยคมนาคม เปิดตัวเลขภาพรวมการเดินทางเทศกาลสงกรานต์ 2568 ระหว่างวันที่ 11 – 16 เมษายน 2568 พบว่าสามารถบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาได้อย่างเพียงพอ ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง โดยมีประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศ มีจำนวนรวม 14,642,918 คน ลดลง 1.72% (เปรียบเทียบกับวันที่ 11 – 16 เมษายน 2567) โดยระบบการขนส่งทางรางมีการใช้บริการสูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 42.99% นอกจากนี้ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ได้กลับมาเปิดให้บริการครบทั้ง 30 สถานี ตามปกติตั้งแต่เวลา 06.00 น. ของวันที่ 16 เมษายน 2568 เป็นต้นไป เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน

ด้านระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศที่มีผู้ใช้สูงสุดในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ 1.ภาคกลาง : ทางอากาศ (ขาออก) 285,188 คน 2. ภาคใต้ : ทางถนน 176,172 คน 3.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) : ทางถนน 211,913 คน 4.ภาคเหนือ : ทางถนน 99,539 คน และ 5.ภาคตะวันออก : ทางถนน 105,013 คน ส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ (ถนน ราง น้ำ อากาศ) มีจำนวนรวม 1,384,250 คน ส่วนการจราจรเข้า – ออก กรุงเทพฯ บนทางหลวงสายหลัก 11 เส้นทาง มีปริมาณ 5,863,608 คัน ลดลง  0.02% (เปรียบเทียบกับวันที่ 11-16 เมษายน 2567) การเดินทางภายในกรุงเทพฯ บนทางด่วน (กทพ.) มีปริมาณ 7,632,119 คัน ลดลง 0.56%

ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยคมนาคม ได้สรุปสถิติอุบัติเหตุบนโครงข่ายของกระทรวงคมนาคม ซึ่งข้อมูลวันที่ 11 – 16 เมษายน 2568 (สะสม 6 วัน) ประมวลผลข้อมูล ณ วันที่ 16 เมษายน 2568 เวลา 07.30 น. พบว่า ทางบก เกิดอุบัติเหตุรวม 1,279 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 139 คน ผู้บาดเจ็บ 1,270 คน มูลเหตุสันนิษฐานสูงสุด คือ ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด 808 ครั้ง คิดเป็น 62% ยานพาหนะที่เกิดเหตุสูงสุด คือ รถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ 664 คัน คิดเป็น 32% บริเวณที่เกิดเหตุสูงสุด คือ ทางตรง ไม่มีความลาดชัน 835 ครั้ง คิดเป็น 65%

ในส่วนของจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ สระแก้ว 9 คน จังหวัดที่เกิดเหตุสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 74 ครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2567 (วันที่ 11-16 เมษายน 2567) จำนวนอุบัติเหตุลดลง 7% จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 23% และจำนวนผู้บาดเจ็บลดลง 17% ส่วนรถโดยสารสาธารณะ เกิดอุบัติเหตุ 4 ครั้ง ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ 2 คนไม่มีผู้โดยสารเสียชีวิต ทางอากาศไม่มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุ ทางน้ำ เกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง ไม่มีผู้เสียชีวิต และไม่มีผู้บาดเจ็บ และทางราง เกิดอุบัติเหตุ 3 ครั้ง ไม่มีผู้เสียชีวิต และไม่มีผู้บาดเจ็บ

ขณะที่ ระบบขนส่งสาธารณะกระทรวงคมนาคมได้บริหารจัดการเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างเพียงพอ ทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับไม่มีผู้โดยสารตกค้าง ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้มอบให้หน่วยงานในสังกัด ตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะ ณ จุดตรวจ จุดพักรถ และจุดจอด 222 แห่ง ตรวจรถ 88,326 คัน พบข้อบกพร่อง 22 คัน ตรวจผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 88,326 คน พบอุณหภูมิเกิน (เป็นไข้) และความดันสูงเกินปกติ สั่งเปลี่ยน 2 คน ไม่พบสารเสพติด และแอลกอฮอล์ ด้านรถไฟ ได้ตรวจผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 991 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติด ส่วนท่าเรือ/แพ จำนวน 159 แห่ง ตรวจเรือ 6,078 ลำ พบข้อบกพร่อง สั่งแก้ไข 8 ลำ และตรวจผู้ปฏิบัติงาน 8,591 คน ไม่พบแอลกอฮอล์หรือสารเสพติด

อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมได้อำนวยความสะดวกการเดินทางกลับของประชาชนในช่วงเดินทางกลับหลังจากเทศกาลสงกรานต์ด้านต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มจำนวนรถโดยสารสาธารณะ และการเพิ่มตู้โดยสารไปกับขบวนรถไฟ โดยได้เน้นย้ำหน่วยงานในสังกัดตรวจความพร้อมของการให้บริการในระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งตรวจสอบสภาพรถให้มีความพร้อมในการเดินทางและความพร้อมของผู้ขับขี่รถโดยสารอย่างเข้มงวด รวมทั้งต้องสามารถรองรับการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครของประชาชนได้อย่างเพียงพอ ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง เพื่อให้ประชาชนมั่นใจถึงการอำนวยความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ