ฉลุย! MOU เชื่อม ‘ไทย-ลาว-จีน’ โหมโรงเส้นทางรถไฟตามกรอบ BELT&ROAD 

“คมนาคม” MOU ร่วมไทย-ลาว-จีน ลุยเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่าง “หนองคาย-เวียงจันทน์” ภายใต้กรอบความร่วมมือ BELT&ROAD
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. มีมติอนุมัติบันทึกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย – เวียงจันทน์นั้น ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายหู จู่ฉาย รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน และนายบุนจัน สินทะวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สาธารณรัฐประชาธิป ไตยประชาชนลาว ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย – เวียงจันทน์ ในระหว่างการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (Belt and Road Forum for International Cooperation) ครั้งที่ 2
ทั้งนี้ บันทึกความร่วมมือฯ ดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการเชื่อมต่อโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน และโครงการรถไฟระหว่างจีน – ลาว ทั้งนี้ ทางรถไฟขนาดทางมาตรฐาน (standard gauge) ของโครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย – เวียงจันทน์ จะใช้มาตรฐานทางเทคนิครถไฟของจีน โดยจะดำเนินการสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ ซึ่งจะตั้งอยู่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) และจะมีทางรถไฟทั้งขนาดทางมาตรฐานและขนาดทาง 1 เมตร นอกจากนี้ ฝ่ายไทยและฝ่ายลาวจะดำเนินการตามกระบวนการภายในของแต่ละประเทศ เพื่อขอความเห็นชอบการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ โดยฝ่ายจีนจะเข้ามามีส่วนร่วมการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว เพื่อเป็นโครงข่ายเขื่อมโยงระหว่างภูมิภาคอาเซียน และจีนที่สำคัญในอนาคตต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของบันทึกความร่วมมือดังกล่าวนั้น ได้แก่ การเชื่อมต่อโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน และโครงการรถไฟระหว่างจีน-ลาว จะเป็นการสนับสนุนการเชื่อมโยงด้านระบบรางในภูมิภาค ขณะที่ทางรถไฟขนาดทางมาตรฐาน (Standard gauge) ของโครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ จะใช้มาตรฐานทางเทคนิครถไฟของจีน โดยจะมีการสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ ซึ่งจะตั้งอยู่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย – เวียงจันทน์) และจะมีทางรถไฟทั้งขนาดทางมาตรฐานและขนาดทาง 1 เมตร
ในส่วนของพิธีการศุลกากรและสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณชายแดนนั้น จะตั้งอยู่ทั้งในบริเวณายแดนของฝั่งไทยและฝั่งลาว โดยจะมีการพิจารณาความเป็นไปได้ในการลดขั้นตอนพิธีการศุลกากรบริเวณชายแดน ขณะที่ กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน และโครงการรถไฟจีน-ลาว ไม่ตรงกัน จึงมีการแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 จะพิจารณาให้จัดตั้งสถานีท่าและสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งในฝั่งไทยและฝั่งลาว เพื่อเชื่อมต่อโครงการรถไฟจีน-ลาว มายังโครงข่ายรถไฟขนาดทาง 1 เมตรที่มีอยู่ของประเทศไทย และระยะที่ 2 โครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย จะเชื่อมต่อกับสถานีดังกล่าวตามระยะที่ 1 เพื่อเชื่อมต่อโครงการรถไฟจีน-ลาว และโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน
นอกจากนี้ ไทยและลาวจะดำเนินการตามกระบวนการภายใน เพื่อขอความเห็นชอบในการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ ของแต่ละฝ่ายโดยเร็ว และจะพยายามให้การก่อสร้างโครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ แล้วเสร็จในช่วงเวลาเดียวกับโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยฝ่ายจีนจะเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินโครงการเชื่อมต่อฯ ในงานที่เกี่ยวข้องตามที่ไทยและลาวเห็นชอบและเป็นไปตามขั้นตอนภายในของประเทศตน ขณะเดียวกัน อาจพิจารณาจัดให้มีการประชุมประสานงาน 3 ฝ่าย เพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการเชื่อมต่อฯ โดยโครงการเชื่อมต่อฯ จะไม่กระทบสิทธิของไทยและลาว เกี่ยวกับเขตแดนของทั้งสองประเทศตามกฎหมายระหว่างประเทศ