ครม. ไฟเขียวสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย “สายสีแดง” ช่วงรังสิต – ธรรมศาสตร์ มูลค่า 6,473 ล้าน คาดเปิดประมูลภายในไตรมาส 1 ปีนี้ พร้อมก่อสร้างทันที แล้วเสร็จเปิดบริการ ม.ค. 2571 เชื่อมโยงการเดินทางกรุงเทพฯ-ปทุมธานี อำนวยความสะดวกประชาชน-นักศึกษา
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2568 มีมติอนุมัติการขอทบทวนมติ ครม.และขอปรับกรอบวงเงินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ซึ่งปรับลดกรอบวงเงินเนื่องจากค่าเวนคืนที่ดินลดลง รวมไปถึงค่าระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ปรับลดลงผลจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้กรอบวงเงินรวมของโครงการฯ ลดลง จากเดิม 6,570.4 ล้านบาท เป็น 6,473.98 ล้านบาท หรือ ลดลง 96.42 ล้านบาท รงมถึงขอปรับระยะเวลาโครงการฯ จากเดิม 5 ปี เหลือเป็น 4 ปี
ทั้งนี้ ภายหลังหลัง ครม. มีมติอนุมัติแล้ว กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดทำเอกสารประกวดราคา (TOR) ทันที คาดว่าจะเปิดประกวดราคาและก่อสร้างภายในปี 2568 และก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2570 เปิดให้บริการในเดือน ม.ค.2571 โดยจะเปิดประมูลเป็นงานโยธา 1 สัญญา ส่วนงานเดินรถจะมอบหมายให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ รฟท. และปัจจุบันได้บริหารการเดินรถ ช่วงบางซื่อ-รังสิตอยู่แล้ว ดำเนินการเดินรถต่อ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการ อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าเมื่อเปิดให้บริการจะมีปริมาณผู้โดยสาร 36,050 เที่ยวต่อวัน โดยในปีที่ 30 ของการเปิดให้บริการคาดว่า จะมีปริมาณผู้โดยสาร 67,340 เที่ยวต่อวัน
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับแหล่งเงินในการดำเนินโครงการดังกล่าว จะเป็นการลงทุนโดยภาครัฐทั้งหมด แบ่งเป็น เงินงบประมาณ จำนวน 222.18 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืนที่ดิน จำนวน 209.79 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาประกวดราคา 7.39 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาช่วยเวนคืนที่ดิน 5 ล้านบาท นอกจากนี้ จะจัดใช้เงินกู้ จำนวน 6,251.80 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่างานโยธาและระบบราง จำนวน 4,060.80 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาคุมงานก่อสร้าง 166.79 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ 20.04 ล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล 2,004.17 ล้านบาท
ขณะที่ โครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง ยังเหลือเตรียมเสนอ ครม. คือ ช่วงศิริราช – ตลิ่งชัน – ศาลายา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อประกอบการเสนอขออนุมัติ ครม. ต่อไป โดยคาดว่าหลังจากนี้อีก 1 – 2 เดือน จะสามารถเสนอเข้า ครม. พิจารณาอนุมัติต่อไป
รายงานข่าวจากการรถไฟฯ ระบุว่า โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หลังจากผ่านการอนุมัติจาก ครม.แล้ว มีแผนดำเนินการโดย รฟท.จะเร่งจัดทำเอกสารประกวดราคา (TOR) เพื่อประมูลจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างงานโยธา ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในเดือน ม.ค.นี้ และแล้วเสร็จเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนประมูลภายในไตรมาส 1 ปี 2568
สำหรับโครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงรังสิต – มธ.ศูนย์รังสิต มีระยะทาง 8.84 กิโลเมตร (กม.) แนวเส้นทางผ่าน อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอธัญบุรี และอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยจะให้บริการสิ้นสุดที่สถานีธรรมศาสตร์รังสิต ประกอบด้วย 5 สถานี สถานีรังสิต สถานีคลองหนึ่ง สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถานีเชียงราก และสถานีธรรมศาสตร์รังสิต
ทั้งนี้ เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จ จะเป็นส่วนต่อขยายโครงข่ายจากโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต ที่จะรองรับและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่อยู่ในจังหวัดปทุมธานีในการเข้าสู่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางและแบ่งเบาภาระการจราจรทางถนนในการรับส่งประชาชนที่มาจากชานเมืองได้มากยิ่งขึ้น
อีกทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของระบบขนส่งทางรถไฟใน กทม. ในการเชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่นๆ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านการเดินรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รวมทั้งรถไฟฟ้าชานเมืองของการรถไฟฯ โดยจะช่วยประหยัดและลดต้นทุนด้านพลังงานของประเทศ และส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบราง ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอยต่อของกรุงเทพมหานครกับจังหวัดปทุมธานีให้สามารถเข้าถึงระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่งผลให้การบริการด้านการขนส่งสาธารณะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ