สนข.เดินหน้าร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ หวังสร้างมาตรฐานการเดินทาง

สนข. ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อเป็นมาตรฐานการเดินทางในระบบขนส่งมวลชน ก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด Cashless Society ตามนโยบายของภาครัฐฯ พร้อมเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติ ก่อนเดินหน้าตามกระบวนการต่อไป

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้จัดทำระบบตั๋วร่วม (Mangmoom Card) เพื่อส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนของประชาชนโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และบรรเทาปัญหาจราจรแออัดในตัวเมือง ทั้งนี้เพื่อบูรณาการระบบตั๋วร่วมได้อย่างสมบูรณ์แบบ จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการระบบขนส่งมวลชนในการร่วมให้บริการระบบตั๋วร่วมและการจัดเก็บค่าโดยสาร ซึ่งต้องอาศัยกลไกด้านกฎหมาย ในการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงาน การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องและขอบเขตความร่วมมือการให้บริการของระบบตั๋วร่วม รวมถึงหลักเกณฑ์การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ระบบตั๋วร่วมและระบบขนส่งสาธารณะ

ทั้งนี้ การที่มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมจะเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ระบบตั๋วร่วมและระบบขนส่งสาธารณะ ประชาชนและผู้ใช้บริการจะได้รับความสะดวก รวดเร็ว และได้รับผลประโยชน์จากการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างระบบขนส่งสาธารณะตามอัตราค่าโดยสารร่วมที่กำหนด และยังได้รับสิทธิประโยชน์ในการได้รับส่วนลดค่าเดินทางหรือค่าบริการต่าง ๆ อีกทั้ง ผู้ประกอบการระบบขนส่งสาธารณะจะได้รับความสะดวกจากระบบตั๋วร่วมจากการลดการใช้งานตั๋วโดยสารเที่ยวเดียว ลดต้นทุนในการดำเนินการบริหารจัดการบัตรโดยสาร และลดความเสี่ยงจากการทุจริตในการบริหารจัดการ
นอกจากนี้ ยังเพื่อการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม อัตราค่าโดยสารร่วม และการเชื่อมต่อระบบกับผู้ประกอบการ เป็นมาตรฐานเดียวกัน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร จึงดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ซึ่งการดำเนินงานและการบังคับใช้ข้อกำหนดหลักเกณฑ์ และมาตรฐานตั๋วร่วมต่างๆ จะเกี่ยวข้องกับระบบการขนส่งทุกสาขา ทั้งผู้ประกอบการภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งการบริหารจัดการบัตรโดยสารร่วมให้สามารถใช้บริการนอกภาคการขนส่ง

สำหรับร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ประกอบไปด้วยทั้งหมด 6 หมวด ได้แก่ หมวด 1 คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม เพื่อกำหนดองค์ประกอบและคุณสมบัติของคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม และอำนาจหน้าที่ อันประกอบด้วย กำหนดนโยบายการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม กำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและข้อกำหนดต่างๆ หมวด 2 การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ให้กรมการขนส่งทางรางเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม มีหน้าที่กำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและการดำเนินงานของบริษัทบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และผู้ให้บริการภาคขนส่งให้เป็นไปตามมาตรฐานและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในขณะที่ หมวด 3 การดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อกำหนดให้บริษัทบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม บำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม และบริหารศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง หมวด 4 กองทุนบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อกำหนดให้จัดตั้งกองทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนในการดำเนินงาน การพัฒนา และการส่งเสริมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม รวมทั้งการอุดหนุนประชาชนผู้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมหรือระบบขนส่ง และการส่งเสริมการใช้ระบบตั๋วร่วมหรือระบบขนส่ง หมวด 5 การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต เพื่อกำหนดให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วมมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการของบริษัทบริหารจัดการตั๋วร่วม และหมวด 6 บทกำหนดโทษ เพื่อให้มีการกำหนดโทษ เมื่อมีผู้กระทำความผิด

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมนำเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รวบรวมความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเสนอร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมต่อคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เพื่อเข้าสู่กระบวนการตามหลักการและแนวทางการจัดทำ และการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ คาดหวังว่าการใช้งานระบบตั๋วร่วมในระบบขนส่งสาธารณะ จะเป็นการอำนวยสะดวกแก่ประชาชน ผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นการเดินทางที่ประหยัดเวลา ประหยัดค่าเดินทาง และสนับสนุนการลดการใช้เงินสดเพื่อเข้าสู่สังคมไร้เงินสด Cashless Society ตามนโยบายของภาครัฐ