รฟฟท. ปลื้ม 20 บาทตลอดสาย ดันยอดผู้โดยสารสายสีแดงเพิ่ม คาดสิ้นปีภาพรวมผู้ใช้บริการ 9 ล้านคน ปี 68 โต 20% รวมกว่า 12 ล้านคน

รฟฟท. ปลื้มนโยบาย 20 บาทตลอดสาย ดันยอดคนใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เผยเพิ่มขึ้นจากปี 66 กว่า 50% คาดภาพรวมผู้โดยสารปี 67 แตะ 9 ล้านคน ส่วนปี 68 ตั้งเป้าโต 20% รวม 12 ล้านคน พร้อมเตรียมสรุปข้อมูลชงบอร์ด รฟท. 30 ก.ย.นี้ ต่ออายุนโยบายฯ พ่วงขอรับเงินชดเชยรายได้

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงกรุงเทพอภิวัฒน์ – รังสิต และช่วงกรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา ขณะนี้ ได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 11 เดือนแล้ว พบว่า ผู้โดยสารให้การตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งนับเป็นนโยบายที่ประสบผลสำเร็จอย่างมาก

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ตัวเลขผู้โดยสารที่ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อช่วงก่อนเริ่มนโยบาย คาดว่า จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 15-20% จากจำนวนผู้โดยสารในขณะนั้นที่มีเฉลี่ย 1.9-2 หมื่นคนต่อวัน แต่ปัจจุบันเมื่อประกาศใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย พบว่า ผู้โดยสารสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในอัตรากว่า 50% หรือมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย 3 หมื่นคนต่อวัน และเมื่อปลาย ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา มีปริมาณสูงสุด (นิวไฮ) ตั้งแต่เปิดให้บริการ เฉลี่ย 4.2 หมื่นคนต่อวัน และเชื่อว่า ในปี 2568 ผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นประมาณ 15-20%

สำหรับ ในปัจจุบัน รถไฟฟ้าสายสีแดง มีขบวนรถไฟฟ้าให้บริการจำนวน 25 ขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 2 แสนคนต่อวัน ขณะที่ ภาพรวมผู้โดยสาร จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 2566 มีจำนวน 7.79 ล้านคน ในส่วนของปี 2567 ระยะเวลา 9 เดือน (วันที่ 1 ม.ค. – 30 ก.ย. 2567) มีจำนวน 7.22 ล้านคน และคาดว่า ตลอดทั้งปี 2567 จะมีผู้โดยสารอยู่ที่ 9 ล้านคน และคาดการณ์ว่า ในปี 2568 ภาพรวมผู้โดยสารจะอยู่ที่กว่า 12 ล้านคน

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน รฟฟท. เตรียมรวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานตามมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พร้อมประชุมร่วมกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก่อนเสนอไปยังที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ในวันที่ 30 ก.ย. 2567 เพื่อขอขยายมาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่จะครบกรอบกำหนดเวลาตามที่ ครม. มีมติเห็นชอบในวันที่ 30 พ.ย. 2567 ประกอบกับเสนอขอรับสนับสนุนเงินอุดหนุนจากภาครัฐเพื่อชดเชยรายได้ตามจริงที่หายไปประมาณ 10 บาท จากรายได้ค่าโดยสารเฉลี่ยประมาณ 30 บาทต่อคน ก่อนส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป