‘บอร์ดรถไฟฯ’ ไฟเขียวรวม 2 โปรเจกต์สายสีแดงส่วนต่อขยาย “ช่วงศิริราช -ตลิ่งชัน -ศาลายา” มูลค่า 1.5 หมื่นล้าน หั่นงบ 110 ล้าน คาดเปิดใช้ปี 71

บอร์ด รฟท. ไฟเขียวรวม 2 โปรเจกต์สายสีแดงส่วนต่อขยาย “ช่วงศิริราช -ตลิ่งชัน -ศาลายา” ระยะทางกว่า 20 กม. มูลค่า 1.5 หมื่นล้าน แก้ปมพื้นที่ทับซ้อนสถานีตลิ่งชัน หั่นงบลง 110.06 ล้าน เล็งชง ครม. ส.ค.นี้ เริ่มสร้าง พ.ค. 68 เปิดใช้ปี 71 พร้อมอนุมัติจ้างที่ปรึกษาทบทวนสายสีแดง ช่วงวงเวียนใหญ่ – มหาชัย ระยะทาง 33 กม. ศึกษาเสร็จภายใน 450 วัน

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธานฯ มีมติเห็นชอบการรวมโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีสะพานพระราม 6 สถานีบางกรวย – การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสถานีบ้านฉิมพลี) และโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช เข้าด้วยกันเพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นสัญญาเดียว

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว มีระยะทางประมาณ 20.5 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งเมื่อรวมสัญญาแล้ว จะช่วยแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของของ 2 โครงการ เนื่องจากแนวเส้นทางมีพื้นที่ทับซ้อนกันบริเวณสถานีตลิ่งชัน อีกทั้ง การรวมสัญญาเป็นสัญญาเดียว จะทำให้การดำเนินงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จพร้อมกัน ขณะเดียวกัน ยังทำให้มูลค่าโครงการฯ ลดลงจากเดิม 2 โครงการ มีมูลค่ารวม 15,286.27 ล้านบาท จะลดลง 110.06 ล้านบาท เหลือมูลค่าโครงการ 15,176.21 ล้านบาท

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ การรถไฟฯ จะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา คาดว่า จะได้รับอนุมัติภายในเดือน ส.ค. 2567 จากนั้นจะดำเนินการประกวดราคาผู้รับจ้าง รวมทั้งจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน และจ้างที่ปรึกษาอิสระในการตรวจสอบงานในช่วงระหว่างเดือน ก.ย. 2567 – เม.ย. 2568 (8 เดือน) ก่อนจะเริ่มก่อสร้างในเดือน พ.ค. 2568 ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี คาดว่า จะเปิดให้บริการได้ในเดือน พ.ค. 2571

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมบอร์ดการรถไฟฯ ยังมีมติอนุมัติจ้างที่ปรึกษา เพื่อทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม แบบรายละเอียด จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงวงเวียนใหญ่ – มหาชัย ระยะทาง 33 กม. ซึ่งขณะนี้โครงการฯ การจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ยังไม่ผ่านการอนุมัติ โดยบอร์ดการรถไฟฯ มอบหมายให้ รฟท. ไปหารือสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พร้อมทั้งทบทวนการศึกษา ช่วงหัวลำโพง – วงเวียนใหญ่ด้วย

ทั้งนี้ เมื่อ รฟท. ไปหารือกับ สนข. แล้วเสร็จ จึงจะพิจารณาอนุมัติจ้างที่ปรึกษาจากกิจการค้าร่วม (Consortium) ในนามของบริษัท เทสโก้ จำกัด มีผู้เข้าร่วมค้า 4 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท เทสโก้ จำกัด (Lead Firm) 2.บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด 3.บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด และ 4.บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด) กรอบวงเงินสัญญาจ้างที่ปรึกษา วงเงิน 135 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาศึกษา 450 วัน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ตามแผนแม่บทกำหนดเป็นระบบรถไฟฟ้าชานเมือง ที่มีประสิทธิภาพในการขนส่งผู้โดยสาร เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานครกับพื้นที่ชานเมืองและหัวเมืองหลักรอบนอก ออกแบบให้ระบบสามารถเดินรถร่วมกับระบบรถไฟทางไกล และรถไฟขนส่งสินค้าที่ให้บริการอยู่เดิมของ รฟท. โดยโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีแดงแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมต่อพื้นที่ชานเมืองด้านทิศเหนือ (พื้นที่ดอนเมือง รังสิต และปทุมธานี) และพื้นที่ชานเมืองด้านทิศใต้ (พื้นที่บางบอน และมหาชัย) เข้าสู่ใจกลางเมือง