เตรียมความพร้อม! ‘สุริยะ’ นั่งหัวโต๊ะถกประชุมไฮสปีดเทรนไทย-จีน จ่อประชุมร่วม 2 ประเทศ 7-8 พ.ค.นี้ เร่งเครื่อง 2 เฟส ‘กรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย’

“สุริยะ” เตรียมเตรียมความพร้อมก่อนเยือน “จีน” ดีเดย์ 7-8 พ.ค.นี้ เร่งเครื่องไฮสปีดเทรนไทย–จีน เฟสแรก “กรุงเทพฯ-โคราช” คืบหน้า 32% คาดเปิดใช้ปี 71 พร้อมเดินหน้าเฟส 2 “โคราช-หนองคาย” เปิดหวูดปี 73 เชื่อมการเดินทาง-โลจิสติกส์ “ไทย-สปป.ลาว-จีน”

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 1/2567 วันนี้ (2 พ.ค. 2567) ว่า การประชุมในครั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 31 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 7 – 8 พ.ค. 2567

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงความก้าวหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งมีงานก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 10 สัญญา และรอลงนามสัญญาอีก 2 สัญญา ปัจจุบันความก้าวหน้าโดยรวม 32.31% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2571

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้เร่งผลักดันโครงการฯ ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย สำหรับการเชื่อมต่อโครงการสู่ สปป.ลาว โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2573 และได้หารือถึงการพัฒนาสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย ให้เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน และได้เสนอให้ศึกษาแนวทางรูปแบบเดียวกับโครงการสะพานมิตรภาพไทย – ลาว ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว สำหรับเป็นแนวทางโครงการก่อสร้างทางรถไฟและสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ในช่วงสถานีเวียงจันทน์ใต้ – สะพานข้ามแม่น้ำโขง – สถานีนาทา

ขณะเดียวกัน ในส่วนของการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีรถไฟและรถไฟความเร็วสูงจากต่างประเทศ ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) ขึ้นเป็นหน่วยงานกลางสำหรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ทดสอบและรับรองชิ้นส่วน รวมทั้งสนับสนุนศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูงที่สถานีเชียงรากน้อย โดยอยู่ระหว่างจัดทำร่างบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ China State Railway Group Co., Ltd.

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมของโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างสองประเทศ ยกระดับความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เสริมสร้างเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค รวมทั้งเชื่อมโยงการค้าการลงทุนระหว่างกัน ตลอดจนขยายเครือข่ายเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งและการเชื่อมโยงในภูมิภาคต่อไป