อ่วม! ศาลสั่ง รฟท.จ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 1.18 หมื่นล้าน

รฟท.อ่วม! ศาลปกครองสูงสุดสั่งจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 1.18 หมื่นล้าน ลั่นแบกดอกเบี้ยเงินกู้ต่อปีมากกว่ารายได้-พนักงานขาดแคลน ฟาก “วรวุฒิ” ระบุยึดตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด
รายงานข่าวกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางเป็นยกฟ้องมีผลให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.  ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2551 โดย รฟท.ต้องคืนเงินชดเชยให้กับบริษัทโฮปเวลล์จากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ ซึ่งประกอบด้วยเงินที่บริษัทได้ชำระเป็นค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. ถึงก่อนวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,850 ล้านบาท รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับคดีถึงที่สุด
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ระบุว่า หลังจากนี้จะต้องกลับมาการือกันถึงแนวทางชำระหนี้ก้อนดังกล่าว อาจต้องจัดทำโครงสร้างหนี้ใหม่เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระหนี้ประมาณ 10% จากปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนจะเป็นวิธีกู้หรือไม่นั้น ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ รฟท.ขาดทุนจากภาระดอกเบี้ยในแต่ละปีที่สูงกว่ารายได้ หรือรายจ่ายรวมมากกว่ารายได้นั่นเอง ทำให้ในแต่ละปีจะมียอดขาดทุนมากกว่า 2 พันล้านบาท ดังนั้น การกู้เพิ่มย่อมทำให้มีภาระดอกเบี้ยและยอดขาดทุนแต่ละปีเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน รฟท.ยังประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรอีกหลายพันตำแหน่งที่ต้องเร่งสนรหาเพื่อรองรับทางคู่ ทว่าก็ติดเงื่อนไขอีกมากมายที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟู จนอาจต้องจำใจจ้างเอาซ์ซอร์ซเข้ามาทำงาน ขณะที่การจัดซื้อรถใหม่เพื่อเพิ่มรายได้ค่าโดยสารและรองรับรถไฟทางคู่ปัจจุบันยังคงติดปัญหาในขั้นตอนการเปิดประกวดราคาและการอนุมัติโครงการซึ่งล่าช้ามานานนับปีและอาจเสนอผ่านฝ่ายนโยบายไม่ง่ายอย่างที่คิดแม้โครงการรถไฟทางคู่เฟส 1 รวม 5 สายจะก่อสร้างไปมากแล้วและบางสายได้ทยอยเปิดใช้ไปแล้วด้วย
สำหรับคดีนี้ เริ่มต้นมาจากในช่วงปี 2533 มีการเปิดประมูลโครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท โฮปเวลล์โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่แห่งวงการก่อสร้างของฮ่องกงเเละมีการเซ็นสัญญาในวันที่ 9 พ.ย. 2533 โดยสัญญาสัมปทานมีอายุยาวนานถึง 30 ปี โดยบริษัทโฮปเวลล์จะเป็นผู้ลงทุนออกแบบเองทั้งหมใช้วงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี เเต่ต่อมาเกิดการก่อสร้างล่าช้ากว่าเเผนที่วางไว้มาก โดยบริษัท โฮปเวลล์ อ้างเหตุที่ก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากการรถไฟฯ ไม่ส่งมอบที่ดินให้ได้ตามข้อตกลง ซึ่งเป็นช่วงที่ บริษัทขาดสภาพคล่องทางการเงินเเละปัญหาเศรษฐกิจหลายด้านทำให้โครงการต้องล้มเลิกโครงการเเละเริ่มทำต่อในหลายรัฐบาลก่อนจะ หยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง ในช่วงปี2540-41
ต่อมาบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ยื่นฟ้อง กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ เป็นจำนวน 5.6 หมื่นล้านบาท จากกรณีบอกเลิกสัญญา โดยที่การรถไฟฯ เองก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายในการเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการเป็นจำนวน 2 แสนล้านบาท ต่อมาใน พ.ศ. 2551 คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ คืนเงินชดเชยแก่บริษัท โฮปเวลล์ 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่โฮปเวลล์ จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ในกรณีพิพาทการบอกเลิกสัญญา โดยเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2557
ขณะเดียวกัน ศาลปกครอง มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ วันที่ 30 ก.ย. 2551 และ 15 ต.ค. 2551 และให้ปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทำให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายในการบอกเลิกสัญญาแก่โฮปเวลล์ ตามเหตุผลข้างต้น
ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เปิดเผยว่าเรื่องคดีดังกล่าว หลังจากนี้ รฟท.จะต้องมาพิจารณาคำสั่งศาล โดยขณะนี้ยังตอบอะไรไม่ได้มาก โดยจะยึดหลักตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด