‘สุรพงษ์’ บุก ‘เชียงราย ตรวจงานทางคู่ ‘เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ’ เปิดปี 71 ส่วนศูนย์ขนส่งฯ เสร็จเต็มรูปแบบปี 68

“สุรพงษ์” ลงพื้นที่ จ.เชียงราย ตรวจความคืบหน้าก่อสร้างอุโมงค์ทางรถไฟ “ดอยหลวง” โปรเจกต์ทางคู่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” คาดเปิดใช้ตลอดเส้นทาง 323 กม. ในปี 71 เชื่อมโครงข่ายคมนาคม ก้าวสู่ฮับโลจิสติกส์อาเซียน พร้อมอัปเดต “ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ” เตรียมเปิดเต็มรูปแบบปี 68

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงค์ทางรถไฟดอยหลวง ภายใต้โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของว่า การก่อสร้างอุโมงค์ทางรถไฟดอยหลวง เป็น 1 ใน 4 อุโมงค์ ภายใต้โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ตามแนวเส้นทางที่พาดผ่านพื้นที่ภูเขา ประกอบด้วย 1.อุโมงค์สอง จ.แพร่ ความยาว 1.2 กิโลเมตร (กม.) 2.อุโมงค์งาว จ.ลำปาง ความยาว 6.2 กม. 3.อุโมงค์แม่กา จ.พะเยา ความยาว 2.7 กม. 4.อุโมงค์ดอยหลวง จังหวัดเชียงราย ความยาว 3.4 กม. รวมระยะทาง 13.5 กม. ซึ่งอุโมงค์งาวเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย พร้อมมอบให้ รฟท. เร่งรัดดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง การอำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ผู้โดยสารให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การเร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟทางสายใหม่ให้เสร็จตามแผนที่กำหนด

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ระยะทาง 323.10 กม. วงเงินลงทุน 72,835 ล้านบาท รฟท. ได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มาใช้ก่อสร้างทางลอดใต้ทางรถไฟ แบบโค้ง (Railway Arch culvert) ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่แห่งแรกในไทย มีลักษณะเป็นคอนกรีตหล่อเสริมเหล็กแบบสำเร็จรูปจากโรงงาน สามารถยกไปประกอบติดตั้งได้ง่าย ช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้าง ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 20 – 25% รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ซีเมนต์ และเพิ่มความสูงและความกว้างให้ของทางลอด (Clearance) ประชาชนสามารถสัญจรได้สะดวกมากกว่าการทำทางลอดใต้ทางรถไฟแบบเดิม เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางให้แก่ผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า สามารถลดระยะเวลาเดินทางเมื่อเทียบกับรถยนต์ได้กว่า 1 – 1.30 ชั่วโมง โดยคาดจะแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดใช้บริการได้ในปี 2571

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย โดยมีจุดเริ่มต้นที่สถานีเด่นชัย จ.แพร่ มุ่งไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ลำปาง พะเยา และสิ้นสุดที่ด่านพรมแดนเชียงของ จ.เชียงราย มีสถานีและป้ายหยุดรถ 26 แห่ง ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 แห่ง สถานีขนาดเล็ก 9 แห่ง ป้ายหยุดรถ 13 แห่ง และมีย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า บรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่ พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อไปยังชายแดนเชียงของ

โดยโครงการได้มีการออกแบบให้มีรั้วกั้นตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ไม่มีจุดตัดทางถนนโดยทำสะพานรถยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟ (Overpass/ Underpass) รวมถึงสะพานลอยสำหรับทางเท้าและทางรถจักรยานยนต์ รวม 254 จุด ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางผ่านเสมอระดับ สามารถรักษาระดับความเร็วของขบวนรถไฟให้คงที่ มีความปลอดภัย ทั้งนี้ เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วเสร็จ รถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ จะเป็นเส้นทางรถไฟที่มีเทคโนโลยีก่อสร้างที่ทันสมัย มีทิวทัศน์รอบข้างสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมของไทยให้สมบูรณ์ ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคม และโลจิสติกส์ของอาเซียน

*** อัปเดต ‘ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ’ ***

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ซึ่งรองรับและเชื่อมต่อการขนส่งสินค้ากับโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่สำคัญของกระทรวงคมนาคม ที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพประตูการค้าบริเวณด่านพรมแดนเชียงของ และการขนส่งทางถนนบนเส้นทาง R3A ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านการค้าการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และภูมิภาคอาเซียน รองรับการเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย สปป.ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน

สำหรับภายในโครงการดังกล่าวจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ที่ครบครัน อาทิ ชานชาลาขนถ่ายสินค้า (CFS) รองรับกิจกรรมรวบรวมและบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ และคลังสินค้า รวมถึงการให้บริการอุปกรณ์และกระแสไฟฟ้าสำหรับตู้สินค้าห้องเย็น รองรับการขนส่งสินค้า Cold Chain โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรมของประเทศไทย ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและมีการบูรณาการเชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบราง โดย รฟท. จะมีการก่อสร้างทางรถไฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ เข้ามาภายในพื้นที่ของศูนย์ฯ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ขบ. และ รฟท. ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ซึ่งแสดงถึงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของทั้งสองหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard) และศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) รวมถึงโครงข่ายระบบราง ให้สามารถเชื่อมต่อระหว่างกัน ทั้งในเชิงกายภาพและในเชิงการบริหารจัดการได้อย่างไร้รอยต่อ ช่วยสนับสนุนระบบรางให้เป็นระบบการขนส่งหลัก นำไปสู่การลดต้นทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ

นายสุรพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ ยังมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) รองรับการดำเนินพิธีการที่เกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกได้ในจุดเดียว และสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area) รองรับการปฏิบัติหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ไทย และ สปป.ลาว ในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนในการปฏิบัติงานและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เปิดประตูค้าขายและเปิดโอกาสของประเทศไทยให้เพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีแผนเปิดให้บริการโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ อย่างเต็มรูปแบบในปี 2568 นี้

สำหรับปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการในระยะที่ 2 และอยู่ระหว่างกระบวนการคัดเลือกเอกชน (PPP) ตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และด้วยศักยภาพของโครงการ จากตำแหน่งที่ตั้งในจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาค และการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทำให้มั่นใจได้ว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนจังหวัดเชียงราย ให้เป็น Logistic Hub ที่สำคัญช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับประชาชน ตลอดจนช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งอย่างยั่งยืน และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของภูมิภาคต่อไป