‘การบินไทย’ โชว์ฟอร์มปี 66 โกยรายได้ 1.6 แสนล้าน ฟันกำไรสุทธิ 2.8 หมื่นล้าน ยันจัดหาฝูงบินใหม่ 45 ลำ ‘โปร่งใส‘

“การบินไทย” ประกาศผลการดำเนินงานปี 66 โกยรายได้ 1.6 แสนล้าน ฟันกำไรสุทธิ 2.8 หมื่นบ้าน มีกระแสเงินสดกว่า 6.7 หมื่นล้าน พร้อมยันแผนจัดหาฝูงบิน 787 Dreamliner 45 ลำ โปร่งใส-ไม่ใช้ภาษีประชาชน ชี้ปีนี้ทยอยรับเพิ่ม 9 ลำ เพิ่มฝูงบินเป็น 79 ลำ จ่อเปิดรูทใหม่ 4 เส้นทาง รับอุตฯ การบินเติบโต

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานปี 2566 (สิ้นสุด 31 ธ.ค. 2566) ว่า ในไตรมาส 4 ของปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 45,170 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.4% เนื่องจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว และความต้องการเดินทางของผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ในส่วนของผลการดำเนินงานสำหรับปี 2566 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 161,067 ล้านบาท เป็นรายได้จากกิจกรรมขนส่งผู้โดยสารที่เติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 79.3% โดยรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวของปี 2566 ดังกล่าว เพิ่มขึ้น 53.3% จากปี 2565 และคิดเป็นสัดส่วน 87% ของปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยในปี 2566 มีค่าใช้จ่ายไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 120,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% จากปี 2565 จากค่าใช้จ่ายผันแปรในส่วนค่าน้ำมันที่มีสัดส่วน 39.5% ของค่าใช้จ่ายรวมที่สูงขึ้นจากปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนการบริการในกิจกรรมขนส่งจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น

โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (EBIT) เป็นเงิน 40,211 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน จำนวน 32,414 ล้านบาท และมี EBITDA จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน 42,875 ล้านบาท ดีกว่าประมาณการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขความสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการที่ระบุว่าบริษัทฯ ต้องมี EBITDA จากการดำเนินงานในส่วนของการบินไทยหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบินไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ในรอบ 12 เดือนก่อนหน้าที่จะรายงานถึงผลสำเร็จการฟื้นฟูกิจการ

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า ในปี 2566 มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวของบริษัทฯ และบริษัทย่อยสุทธิเป็นรายได้ 2,201 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ กำไรจากการขายสินทรัพย์ โดยมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงิน 1,066 ล้านบาท นอกจากนี้ ต้นทุนทางการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS 9) 15,611 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 28,123 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้น 12.87 บาท ในขณะที่ปี 2565 ขาดทุนต่อหุ้น 0.12 บาท

ขณะเดียวกัน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 เปรียบเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวม 238,991 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.6% มีหนี้สินรวม 282,133 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ติดลบจำนวน 43,142 ล้านบาท ติดลบลดลง 27,882 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทฯ มีเงินสด รวมตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำ และหุ้นกู้ ที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 67,130 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32,590 ล้านบาท

ในปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีปริมาณการผลิต เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 40.9% และมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร เพิ่มขึ้นถึง 65.4% มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.7% สูงกว่าปี 2565 ที่เฉลี่ยเท่ากับ 67.9% มีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 13.76 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 52.7% มีปริมาณการผลิตด้านการขนส่งสินค้า สูงกว่าปีก่อน 40.9% ปริมาณการขนส่งสินค้า สูงกว่าปีก่อน 15.4% อัตราส่วนการขนส่งสินค้า (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 51.7%

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการจัดหาฝูงบินใหม่จำนวน 45 ลำนั้น ยืนยันว่า ไม่กระทบต่อการดำเนินงานและการจ่ายหนี้ของการบินไทย อีกทั้งหากดูจากฐานะการเงินของบริษัทฯ แล้ว เครื่องบิน 45 ลำ สามารถซื้อเงินสดได้ เพราะว่าการจัดหาเครื่องบินไม่ได้จ่ายทันที โดยเครื่องบินในจำนวนดังกล่าว จะทยอยเข้ามาเริ่มปี 2570-2573 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการศึกษารูปแบบการจัดหาอย่างเหมาะสมก่อน ซึ่งยังมีเวลา และคาดว่าจะได้ความชัดเจนในรูปแบบและแนวทางของการจัดหาเครื่องบินในปี 2568

การจัดหาเครื่องบินเราไม่ได้ใช้เงินภาษีประชาชน และที่ผ่านมาในช่วงโควิดการบินไทยไม่เคยได้รับเงินจากรัฐบาบสักบาทเดียว ครั้งสุดท้ายที่ได้เงินสนับสนุนตากรัฐบาลคือเมื่อ 13 ปีที่แล้ว จำนวน 7.5 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับสายการบินอื่นๆ ทั่วโลก ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล สายการบินญี่ปุ่นรัฐช่วยเหลือ 2 แสนล้านทำให้ฟื้นได้ แต่การบินไทยเราฟื้นด้วยตัวเอง มาจากความร่วมมือร่วมใจของพนักงาน“ นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร การบินไทยฯ กล่าวว่า การจัดหาเครื่องบินใหม่ยืนยันว่าโปร่งใส ไม่ได้ใช้เงินภาษีประชาชน รัฐไม่มีภาระ และไม่ต้องค้ำประกัน ดังนั้นการบินไทยอยากยืนยันกับประชาชนว่า การจัดหาเครื่องบินไม่สร้างผลกระทบต่อประชาชน และเป็นความต้องการของบริษัทบนพื้นฐานธุรกิจโดยแท้ อีกทั้งการบินไทยยังศึกษาอย่างรอบคอบ เพื่อให้การจัดหาเครื่องบินครั้งนี้เป็นกระบวนการคัดเลือกและเจรจาที่ดีที่สุด สำหรับการจัดหาเครื่องบินครั้งนี้ เป็นการจองสล็อตในการผลิต โดยยังไม่ได้สรุปถึงแนวทางของการชำระว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยยังไม่ได้เลือกวิธีของการจัดหาว่าใช้รูปแบบเช่า, เช่าเพื่อดำเนินการ หรือซื้อด้วยเงินสด ดังนั้นยังมีเวลาที่การบินไทยจะสามารถศึกษา ประเมิน และบริหารสภาพคล่อง แต่ยอมรับว่าวิธีการง่ายที่สุด คือการซื้อด้วยเงินสด

สำหรับแนวโน้มธุรกิจในปีนี้ จากการฟื้นตัวของการเดินทางทั่วโลก ทำให้การบินไทยมั่นในว่าสิ้นปีนี้แคชโฟว์จะสะสมมากกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันปริมาณผู้โดยสารในปีนี้ คาดว่าจะมีสูงถึง 15 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 13 ล้านคน ปัจจุบันบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีอากาศยานที่ใช้ทำการบินรวมทั้งสิ้น 70 ลำ แบ่งเป็นแบบลำตัวกว้าง จำนวน 50 ลำและลำตัวแคบ จำนวน 20 ลำ โดยในปี 2567 จะทยอยรับเพิ่ม 9 ลำ รวมเป็น 79 ลำ ทั้งนี้ การบินไทยยังคงเดินหน้าเพิ่มความถี่เส้นทางยอดนิยม อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ซิดนีย์ และเปิดเส้นทางบินใหม่ในเส้นทางศักยภาพสูง 4 เส้นทาง คือ ออสโล มิลาน เพิร์ท และโคจิ เพื่อรองรับการเดินทางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง