รอเลย! ‘ทางหลวง’ จ่อเปิดวิ่งฟรีมอเตอร์เวย์ M82 ‘บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว‘ 24.7 กม. ในปี 68 พร้อมชวนเอกชนลงทุน O&M สัมปทาน 32 ปี

“ทางหลวง” หยั่งเสียงภาคเอกชน ชวนร่วมลงทุนโครงการ O&M มอเตอร์เวย์ M82 “บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว“ มูลค่า 1.5 หมื่นล้าน สัญญา 32 ปีตั้งธงเปิดประมูล เม.ย.นี้ คาดเริ่มสร้างปี 68 พร้อมเตรียมเปิดวิ่งฟรีตลอดเส้นทาง 24.7 กม. 2 ปี ก่อนเปิดเต็มรูปแบบ-เก็บเงินช่วงปลายปี 69 คาดการณ์ปริมาณจราจรปีแรกกว่าวันละ 6.4 หมื่นคัน

นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยภายหลังการเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน (Market Sounding) ประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวนร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้วสำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ระยะทาง 24.7 กิโลเมตร (กม.) วันนี้ (31 ม.ค. 2567) ว่า โครงการดังกล่าว มีสัญญาสัมปทาน 32 ปี มูลค่าวงเงิน 15,724 ล้านบาทแบ่งเป็น ค่างาน O&M วงเงิน 14,687 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี และค่าก่อสร้างงานระบบ วงเงิน 1,037 ล้านบาท ระยะเวลา 2 ปี

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ทล. อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นภาคเอกชนในช่วงระหว่างวันที่ 15 ม.ค.-6 ก.พ. 2567 ก่อนจะเปิดให้ภาคเอกชนแสดงความคิดเห็นในช่วงระหว่างวันที่ 31 ม.ค.-6 ก.พ. 2567 จากนั้น ทล. จะนำความคิดเห็นของภาคเอกชนไปประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน (RFP) ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมลงทุน ปี 2562 (PPP) และตามแผนจะเปิดประมูลภายใน เม.ย. 2567 และเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายใน 3-4 เดือน ซึ่งตามกระบวนการ จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปลายปี 2567

นายปิยพงษ์ กล่าวต่อว่า ทล. คาดว่าจะลงนามสัญญากับเอกชน และเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในต้นปี 2568 ก่อนที่จะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2569 ขณะที่การก่อสร้างด้านงานโยธา ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 8.3 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันมีความคืบหน้า 88% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2567 ส่วนช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.35 กม. มีความคืบหน้า 39% โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จภายในปี 2568 และมีแผนจะเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรี โดยไม่จัดเก็บค่าผ่านทางจนกว่าการดำเนินการ O&M จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2569

ขณะที่การจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการฯ ในระบบ O&M นั้น มองว่า โครงการนี้ เป็นรูปแบบ PPP Gross Cost ไม่ใช่สัญญาสัมปทาน PPP Net cost เนื่องจากเป็นการจ้างให้เอกชนดูแลระบบในระยะยาว ดังนั้นภาคเอกชน จะไม่ต้องแบกภาระความเสี่ยงในเรื่องของรายได้ค่าผ่านทาง รวมทั้งปริมาณการใช้รถน้อย หรือสถานการ์การเศรษฐกิจอื่นๆ แต่อาจจะจะได้รับความเสี่ยงในด้านเทคนิค เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานตะวชี้วัด (KPI) ของ ทล. เช่น สภาพทาง ไฟแสงสว่าง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เป็นรูปแบบ BTO หรือภายหลังครบอายุสัมปทาน 32 ปีแล้วนั้น โครงการฯ จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ให้แก่รัฐบาล 100%

นายปิยพงษ์ กล่าวอีกว่า โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว วงเงินค่าลงทุนระบบ 1,037 ล้านบาท ในรูปแบบการร่วมลงทุน PPP Gross Cost สัญญาสัญญาณสัมปทาน 32 ปี โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนระบบ O&M และได้ค่าตอบแทนจากการก่อสร้าง ส่วนรัฐจะชำระเงินค่าลงทุนคืนให้แก่เอกชนโดยจะเริ่มชำระค่าลงทุนต่อเมื่อโครงการฯ เปิดให้บริการและจัดเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งแบ่งการดำเนินงาน ออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เอกซนจะเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง และติดตั้งงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องด้วยรูปแบบระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (ระบบ M-Flow) ทั้งโครงการ และต้องถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนให้ภาครัฐก่อนเริ่มดำเนินโครงการ (ไม่เกิน 2 ปี)

ขณะที่ ระยะที่ 2 เอกชนจะเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการทั้งหมด ทั้งงานโยธาในส่วนที่รัฐเป็นผู้ลงทุน และงานระบบในส่วนที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน ตลอดจนเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างและนำส่งข้อมูลรายการผ่านทาง (Transaction Generation) ทั้งหมดให้แก่ภาครัฐ รวมทั้งดำเนินงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามชอบเขตงานและเงื่อนไขที่กำหนด โดยเอกชนจะได้รับเงินค่าตอบแทนจากการให้บริการ

สำหรับรูปแบบการก่อสร้างนั้น จะเป็นทางยกระดับอยู่บนเกาะกลางของทางหลวงถนนพระราม 2 ขนาด 6 ช่องจราจร ทิศทางละ 3 ช่องจราจร มีจุดขึ้นลง 4 แห่ง คือ ด่านมหาชัย ด่านสมุทรสาคร 1 ด่านสมุทรสาคร 2 และด่านบ้านแพ้ว ในส่วนของอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทาง คือ รถยนต์ 4 ล้อ อัตราค่าแรกเข้า 10 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาทต่อ กม., 6 ล้อ อัตราแรกเข้า 16 บาท เก็บเพิ่ม 3.2 บาทต่อ กม. และ รถมากกว่า 6 ล้อ อัตราแรกเข้า 23 บาท เก็บเพิ่มขึ้น 4.6 บาทต่อ กม.

ขณะเดียวกัน คาดการณ์ปริมาณจราจรปีเปิดให้บริการอยู่ที่ 64,203 คัน/วัน มีรายได้ประมาณ 1,272.71 ล้านบาทต่อปี มีปริมาณจราจรรวม 30 ปีที่ 1,548 ล้านคัน มีรายได้ค่าผ่านทางรวม 116,954 ล้านบาท ส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจนั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ เท่ากับ 23,264 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ 19.7%