แย้มข่าวดี! ‘กรมรางฯ’ เผยจ่อประกาศใช้ค่ารถไฟฟ้า 20 บาท เพิ่มอีก 2 เส้นทาง ‘ชมพู & เหลือง’ ภายในปีนี้

“กรมรางฯ” แย้มข่าวดี จ่อประกาศเก็บค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเพิ่ม 2 เส้นทาง “สีเหลือง-ชมพู” ภายในปี 67 คาดได้ข้อสรุปภายใน ม.ค.นี้ เผยผู้โดยสารยังน้อย ส่งผลให้รัฐชดเชยการสูญเสียรายได้ให้เอกชนไม่มากนัก ส่วนยอดผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง-ม่วง ช่วง ต.ค. 66 – ปัจจุบัน เพิ่มขึ้น 25% หลังได้รับอานิสงค์จากมาตรการ 20 บาทตลอดสาย เล็งเสนอ “คมนาคม” ชง ครม. ขยายอายุมาตรการต่อไป

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงคมนาคม ได้มีการดำเนินตามมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย นำร่อง 2 โครงการ คือ 1.โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และ 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2566-17 ม.ค. 2567 มีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงในวันจันทร์-ศุกร์ เพิ่มขึ้น 10-12% และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพิ่มขึ้น 25% ขณะที่ ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสีม่วง ในวันจันทร์-ศุกร์ เพิ่มขึ้น 5% และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพิ่มขึ้น 12% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ก่อนการประกาศใช้มาตรการดังกล่าว

สำหรับมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายนั้น ในช่วงประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา มีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้น 25% ส่งผลให้การชดเชยรายได้ให้ผู้ได้รับสัมปทานลดลง 25% ตามไปด้วยกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากเดิมคาดการณ์ไว้ว่า จะสูญเสียรายได้ทั้งหมดประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าหลังจากนี้ จะมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้การชดเชยรายได้น้อยลงไปอีก โดยจะมีการเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อมาตรการดังกล่าว เพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ขณะที่การประกาศใช้มาตรการค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายในเส้นทางอื่นๆ นั้น ขร. คาดว่าภายในปี 2567 นี้ จะสามารถใช้ได้กับรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เนื่องจากพบว่าปริมาณผู้โดยสารของทั้ง 2 เส้นทาง ยังมีไม่มาก หรือยังมีจำนวนไม่เกิน 3-4 แสนคนต่อวัน ทำให้สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารได้ง่าย ซึ่งจะใช้วิธีให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นำส่วนแบ่งรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่จะได้รับถึงปี 2572 ซึ่งยืนยันว่า มีเพียงพอ เพื่อนำมาชดเชยรายได้ให้แก่เอกชนเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะได้ข้อสรุปในช่วงปลาย ม.ค. 2567 หรือในช่วงที่กระทรวงคมนาคมจะมีโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมเพื่อความอุดมสุขชองประช่าชน ปี 2567 และปี 2568”

“เบื้องต้นได้มีการสอบถามไปยังภาคเอกชน ซึ่งเอกชนไม่ได้ขัดข้องกับการให้ความร่วมมือในมาตรการดังกล่าว แต่รัฐบาลต้องเคารพสัญญาสัมปทานเดิมของเอกชน ส่วนการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้กับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ นั้น จากการศึกษาในครั้งนี้ กรมฯจะมุ่งเน้นไปที่โครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ในอนาคตก่อน ส่วนโครงรถไฟฟ้าในปัจจุบัน อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากยังติดสัญญาสัมปทานระหว่างเอกชนและกรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงทำให้ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องนี้” นายพิเชฐ กล่าว

นายพิเชฐ ยังกล่าวภายหลังการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้าและหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง วันนี้ (17 ม.ค. 2567) ว่า การสัมมนาดังกล่าว เพื่อศึกษาวิธีการกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดของระบบขนส่งทางราง อาทิ รถไฟฟ้าในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้ประชาชนหันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทางราง

ทั้งนี้ ขร.จะสรุปผลการเปิดรับฟังความคิดเห็นทั้งหมดเสนอต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาเห็นชอบภายใน ก.พ. 2567 ส่วนจะมีผลบังคับใช้ได้เมื่อไหร่นั้น จะต้องรอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขนส่งทางราง พ.ศ…. ที่ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเสนอคณะรัฐมนตรี ผ่านการพิจารณาและมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการก่อน อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความเห็นของประชาชนที่ใช้รถไฟฟ้าในเขตพื้นที่ กทม. และปริมณฑล เฉลี่ยการเดินทางต่อเที่ยวอยู่ 13 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยินดีที่จะจ่ายค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิด 42 บาทต่อเที่ยว (ครอบคลุมในทุกเส้นทาง)