‘สุริยะ’ เตรียมเข็นเมกะโปรเจกต์ ‘แลนด์บริดจ์’ Road Show บนเวที APEC 2023 @ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ ดีเดย์ 11-17 พ.ย.นี้

“สุริยะ” เดินหน้าเมกะโปรเจกต์ “แลนด์บริดจ์” เต็มสูบ เผยเอกชนจีนสนใจร่วมลงทุน เตรียมประเดิม Road Show บนเวทีเอเปค 2023 @ซานฟรานซิสโก สหรัฐ 11-17 พ.ย.นี้ ก่อนจัดทำ พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ช่วงปลายปี 67 คาดเริ่มก่อสร้าง ก.ย.68 เปิดให้บริการ ต.ค.73 ดัน GDP โต 5.5% สร้างงานกว่า 2.8 แสนตำแหน่ง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่เมื่อวันที่ 16-19 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และตน พร้อมด้วยคณะฯ ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้หารือทวิภาคีกับนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีการนำเสนอโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) เชื่อมต่อระหว่างอันดามัน-อ่าวไทย

ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกับภาคเอกชนของจีนในเบื้องต้น พบว่า มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ในประเทศไทย โดยหลังจากนี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) โครงการแลนด์บริดจ์ โดยจะนำเสนอในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2023 ระหว่างวันที่ 11-17 พ.ย. 2566 ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เป็นการ Road Show ครั้งแรก ก่อนที่จะ Road Show ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และยุโรป ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบหลักการเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ให้กระทรวงคมนาคมไป Road Show ในช่วง พ.ย. 2566-ม.ค. 2567 เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) ต่อไป

สำหรับกระบวนการภายหลังการไป Road Show ดึงนักลงทุนมาลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์นั้น จะจัดทำกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งคาดว่า จะสามารถจะเสนอ ครม. ได้ในช่วงปลายปี 2567 โดยกรอบการดำเนินงานที่ ครม.อนุมัติในการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์นั้น จะคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนใน เม.ย.-มิ.ย. 2568 ควบคู่กับการดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดิน และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในช่วง ม.ค. 2568-ธ.ค. 2569 หลังจากนั้นจะเสนอ ครม.อนุมัติลงนามในสัญญาภายใน ก.ค.-ส.ค. 2568 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างใช้ระยะเวลา 5 ปี หรือ ก.ย. 2568-ก.ย. 2573 และเปิดให้บริการใน ต.ค. 2573

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า สำหรับการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์นั้น เพื่อสร้างความเชื่อมโยงจากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทย โดยมีลักษณะทางกายภาพสามารถเปิดสู่ทะเลทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านอ่าวไทย และอันดามัน สามารถเป็นประตูในการขนส่ง และแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค รวมถึงประเทศจีนตอนใต้ เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งจะช่วยลดเวลา และระยะทางการขนส่งจากเดิม ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่งด้วย

ขณะที่ขององค์ประกอบสำคัญที่จะต้องพัฒนาโครงการฯ ไปพร้อมกัน ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งทะเล และโครงข่ายเชื่อมโยงระบบราง, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และทางท่อ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่า โดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ รองรับอุตสาหกรรมขนาดเบา และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการฯ เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งโครงการในลักษณะท่าเรือเดียวเชื่อม 2 ฝั่ง โดยโครงการฯ มีความเหมาะสมในการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่จำนวนกว่า 280,000 ตำแหน่ง และเป็นส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ 4.0% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปีอีกด้วย

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุอีกว่า เป็นการให้สิทธิแก่เอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี โดยภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเวนคืนที่ดิน ลงทุนทางรถไฟขนาด 1.0 เมตร และกำหนดสิทธิประโยชน์ให้กับเอกชนผู้ร่วมลงทุนในโครงการ พร้อมทั้งกำหนดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งโครงการฯ ประกอบด้วย ท่าเรือ ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หลังท่า

โดยแบ่งการลงทุนเป็นระยะ ได้แก่ การลงทุนท่าเรือฝั่งระนอง (อันดามัน) บริเวณแหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนอง ออกแบบให้สามารถรองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้า จำนวน 6 ล้าน TEUs ในปี 2573 ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 12 ล้าน TEUs ในปี 2577 และระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 8 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี 2579

ขณะที่ การลงทุนท่าเรือฝั่งชุมพร (อ่าวไทย) บริเวณแหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้า จำนวน 4 ล้าน TEUs ในปี 2573 ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 4 ล้าน TEUs รวมเป็น 8 ล้าน TEUs ในปี 2577 ระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 14 ล้าน TEUs ในปี 2579 และระยะที่ 4 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี 2582

นอกจากนี้ โครงการแลนด์บริดจ์จะก่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดเบา เช่น การประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์อนาคต อาหาร กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้า เครื่องมือและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้า และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้โดยการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการต่างๆ ในพื้นที่ เช่น ร้านอาหาร โรงพยาบาล สถานบันเทิง ร้านค้าต่างๆ ระหว่างเส้นทางโครงการ เป็นต้น