‘นักวิชาการ’ แนะรัฐ หนุนลงทุนผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ดันไทยสู่ Hub EV ในภูมิภาค

”นักวิชาการ“ แนะรัฐฯ หนุนลงทุนผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไม่น้อยกว่า 70% ลดการนำเข้า ดันไทยสู่ Hub EV ในภูมิภาค กระตุ้นการจ้างงาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.มะโน ปราชญาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน วิทยาลัยโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) เปิดเผยว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบปะหารือกับกลุ่มนักธุรกิจต่างชาติ เพื่อดึงดูดให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยให้ความมั่นใจว่าไทยจะเป็นศูนย์กลาง (Hub) การผลิตยานยนต์ EV ของภูมิภาคนั้น

ขณะนี้ เริ่มมีหลายบริษัทให้ความสนใจเข้ามาลงทุนแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน การผลิตชิ้นส่วนรถ EV ในประเทศแล้ว ยังนำไปสู่การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านยานยนต์ EV ที่สำคัญยังเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ในปี 2573 ตามที่ตั้งเป้าไว้และยังนำไปสู่การเคลมคาร์คอนเครดิตในอนาคตได้อีกด้วย

ผศ.ดร.มะโน กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและซัพพลายเชน มีการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ในการลงทุน และมีนโยบายสนับสนุนให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศที่ชัดเจน ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือสั่งการถึงผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เรื่องการสนับสนุนการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และสำนักงบฯก็ได้ทำหนังสือแจ้งเวียนถึงทุกหน่วยงานแล้ว

นอกจากนี้ การที่นายกฯนั่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ด้วยตัวเอง เชื่อว่าจะทำให้เกิดการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นแน่นอน ดังนั้น รัฐต้องระมัดระวังและหาทางป้องกันเรื่องการนำเข้ารถอีวีทั้งคัน เพราะปัจจุบันมีผู้ประกอบการบางรายนำเข้ารถจากต่างประเทศโดยสั่งผลิตและประกอบรถที่เน้นต้นทุนต่ำเพื่อทำกำไรสูงๆ แต่เมื่อนำรถไปใช้งานได้ไม่นานก็มีปัญหา แต่ไม่มีชิ้นส่วนและอะไหล่ที่จะมาเปลี่ยนได้ ทำให้ใช้งานไม่ได้ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดซื้อ

“ต้องยอมรับว่ารถไฟฟ้ายังเป็นเรื่องใหม่โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานราชการ รัฐจึงต้องเข้มงวดทั้งในด้านคุณภาพประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือ โดยต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันและช่วยให้องค์กรได้ยานยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพ โดยการกำหนดขอบเขตและคุณสมบัติของบริษัทอย่างรัดกุม อาทิ เน้นบริษัทที่มีการผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ มีทุนจดทะเบียนสูงๆเพื่อมีศักยภาพรับผิดชอบในกรณีที่เกิดปัญหา มีการชุบกันสนิม (EDP) เพื่อความแข็งแรงทนทานของรถ มีบริการหลังการขายที่สามารถแก้ไขได้ทันที รวมถึงควรตั้งค่าปรับสูงๆในกรณีที่ไม่เป็นไปตามสัญญา ที่สำคัญหน่วยงานต้องกล้าขึ้นแบล็คลิสบริษัทที่มีปัญหา เพื่อเตือนหน่วยงานอื่น อย่าเปิดโอกาสให้บริษัทที่ไร้ความรับผิดชอบมาผลาญเงินภาษีประชาชนอย่างเด็ดขาด เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองงบประมาณของรัฐที่ได้รถไม่มีคุณภาพแล้ว แบตเตอรี่ที่ติดมากับรถอาจจะก่อให้เกิดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กลายเป็นภาระของรัฐต้องใช้งบเพิ่มขึ้นในการกำจัด” ผศ.ดร.มะโนกล่าว

ผศ.ดร.มะโน กล่าวอีกว่า การออกมาตรการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นให้เกิดดีมานต์ตลาดในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศเป็นเรื่องดี แต่มองว่าต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศด้วย โดยเฉพาะสนับสนุนให้มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ และระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้าในประเทศ อีกทั้งรัฐควรวางมาตรการกำหนดว่า รถยนต์ EV ที่ผลิตภายในประเทศ ต้องประกอบด้วยชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 70% ขึ้นไป เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานตามนโยบายรัฐบาล และลดการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศได้อย่างมาก