บอร์ด ทอท. ไฟเขียวประมูล Duty Freeแยกสัญญา ทสภ.-ภูมิภาค ป้องกันผูกขาด

บอร์ด ทอท. ไฟเขียวประมูลดิวตี้ฟรี พร้อมสั่งแยกสัญญาสุวรรณภูมิ-ภูมิภาค ป้องกันเอกชนผูกขาด วางกรอบแนวทางคัดเลือก เน้นสินค้า Brand Name หวังแข่งขันธุรกิจระดับโลก
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ หรือ บอร์ด ทอท.ได้มีมติเห็นชอบดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ตามข้อแนะนำของทุกภาคส่วนและเพื่อไม่ให้เป็นการผูกขาดเอกชน ดังนั้นจึงมีมติแยกการประมูลโครงการพัฒนาร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ภายในท่าอากาศยานแบ่งออกเป็น 2 สัญญา คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1 สัญญา และท่าอากาศยานภูมิภาค ประกอบด้วย ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ 1 สัญญา
โดยโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร แยกเป็น 2 สัญญา คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1 สัญญา และท่าอากาศยานภูมิภาค ประกอบด้วย ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ 1 สัญญา โดยให้กำหนดกรอบแนวทางในการคัดเลือกให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ (Brand Name) สามารถแข่งขันกับธุรกิจเดียวกันในตลาดโลกได้ และผลประโยชน์ตอบแทนรวมของทั้งสองสัญญาจะต้องไม่ต่ำกว่าที่ ทอท. ได้รับอยู่ในปัจจุบัน
ในส่วนของโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น บอร์ด ทอท.มีมติให้สัมปทานแบบรายเดียว (Master Concession) ขณะที่คณะกรรมการ ทอท. ยังเน้นย้ำว่า การกำหนดแนวทางในการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจบทบาทและหน้าที่ในการดำเนินงานของ ทอท. ที่จะต้องคำนึงถึงการดำเนินงานอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและ
สิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินงาน ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับสัญญาดิวตี้ฟรีภายในสนามบินสุวรรณภูมินั้น ขณะนี้ได้นำร่างเอกสารขอบเขตการประกวดราคา (TOR) ขึ้นเว็บไซต์แล้ว ได้มีการเปิดขายซองไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่สัญญาโครงการดิวตี้ฟรีภายในท่าอากาศยานภูมิภาค 3 แห่งนั้นจะนำร่าง TOR ขึ้นเว็บไซต์ อย่างไรก็ตาม บอร์ด ทอท. ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องมูลค่าโครงการและประสิทธิภาพของเอกชนที่จะเข้ามาบริหารดิวตี้ฟรีภูมิภาค เริ่มจากเรื่องการแยกสัญญาออกเป็น 2 สัญญานั้นจะกระทบต่อมูลค่ารวมของโครงการหรือไม่ ส่วนเรื่องประสิทธิภาพนั้นบอร์ดขอให้ฝ่ายบริหารไปหาหลักเกณฑ์ประมูลเพื่อคัดเลือกเอกชนที่มีความแข็งแรงเข้ามาบริหาร ดังนั้นจึงใช้วิธีตัดสินโดยให้น้ำหนักคะแนนค่อนข้างมากในเรื่องของผลประโยชน์ด้าน Minimum Guarantee ถ้าเขาขายไม่ดีไม่เกี่ยวกับเรา แต่พอมีรายได้มากก็ขอเพิ่มส่วนแบ่งรายได้และตัวการันตี ดังนั้นใครเสนอส่วนแบ่งรายได้จากการขายให้สูงสุดและเสนอตัวเลข Minimum Guarantee ดีที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะไป