ตามเป้า! ‘กรมรางฯ’ เปิดยอดผู้โดยสาร ‘สีแดง & สีม่วง’ ใช้ 20 บาทตลอดสายทั้งวันวันแรก (17 ต.ค. 66) รวม 1.01 แสนคน เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงต้นเดือน ต.ค. 66

“กรมรางฯ” เผยตัวเลขผู้โดยสารสายสีแดง & สีม่วง วันที่ 17 ต.ค. 66 เปิดใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสายแบบทั้งวันเป็นวันแรก พบมีผู้โดยสารรวม 1.01 แสนคน-เที่ยว ชี้ค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงต้นเดือน ต.ค. 66 พร้อมลุยประสานแบงค์กรุงไทย-ผู้ให้บริการ เร่งปรับปรุงระบบ @สถานีบางซ่อน ใช้บริการวิ่งยาวเชื่อม 2 สาย คาดเปิดใช้ พ.ย.นี้

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการในการดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงสถานีกลางฯ-ตลิ่งชัน และช่วงสถานีกลางฯ-รังสิต และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่นั้น โดยเมื่อวานนี้ (17 ต.ค. 2566) ถือเป็นหารใช้มาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายตามนโยบายรัฐบาลแบบทั้งวันเป็นวันแรก

ทั้งนี้ พบว่า มีประชาชนมาใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง รวมจำนวน 101,289 คน-เที่ยว แบ่งเป็น รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 27,411 คน-เที่ยว (รวมรถไฟทางไกลต่อสายสีแดง 254 คน-เที่ยว) และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง จำนวน 73,878 คน-เที่ยว โดยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันทำงานช่วงวันที่ 2-12 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมาก่อนมีมาตรการฯ พบว่า สายสีแดงเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 2,135 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 8.45% (ค่าเฉลี่ยสายสีแดง 25,276 คน-เที่ยว)

ขณะที่ สายสีม่วงเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 3,138 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้น 4.44% (ค่าเฉลี่ยสายสีม่วง 70,740 คน-เที่ยว) นอกจากนี้ ยังพบว่า มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน จำนวน 497,319 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 26,973 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้น 5.73% (ค่าเฉลี่ยสายสีน้ำเงิน 470,346 คน-เที่ยว) เนื่องจากมีสถานีเชื่อมต่อกับสายสีม่วงที่สถานีเตาปูน

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ขร.ได้ประสานธนาคารกรุงไทยและผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า เร่งรัดดำเนินการปรับปรุงระบบการจัดเก็บค่าโดยสาร ในส่วนของการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยจะต้องเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที และในเบื้องต้นจะต้องใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน หรือบัตร EMV Contactless เท่านั้น ซึ่งคาดว่า จะเริ่มให้บริการได้ภายใน พ.ย. 2566 นี้ต่อไป 

ส่วนภาพรวมผู้ใช้บริการระบบราง (17 ต.ค. 2566) รวมทั้งสิ้น 1,566,998 คน-เที่ยว ประกอบด้วย 1.รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการเดินรถไฟ 213 ขบวน มีผู้ใช้บริการรวม 71,222 คน-เที่ยว แบ่งเป็น ขบวนรถเชิงพาณิชย์ 25,050 คน-เที่ยว และขบวนรถเชิงสังคม 46,172 คน-เที่ยว 2.รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,495,776 คน-เที่ยว ประกอบด้วย

  • รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 223 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 8 เที่ยววิ่ง) จำนวน 69,285 คน-เที่ยว
  • รถไฟฟ้าสายสีแดง ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 27,411 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลใช้บริการสายสีแดงฟรี 254 คน-เที่ยว)
  • รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ให้บริการ 319 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 3 เที่ยววิ่ง) จำนวน 73,878 คน-เที่ยว
  • รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ให้บริการ 487 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 24 เที่ยววิ่ง) จำนวน 497,319 คน-เที่ยว
  • รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) ให้บริการ 1,264 เที่ยววิ่ง จำนวน 785,605 คน-เที่ยว
  • รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง ให้บริการ 219 เที่ยววิ่ง จำนวน 5,240 คน-เที่ยว
  • รถไฟฟ้าสายสีเหลืองให้บริการ 276 เที่ยววิ่ง จำนวน 37,038 คน-เที่ยว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันแรกของการประกาศใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นายสุริยะ จึงรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คาดการณ์ว่า จะมีผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วงกว่า 100,000 คน-เที่ยวต่อวัน แบ่งเป็น รถไฟฟ้าสายสีแดง 30,000 คน-เที่ยวต่อวัน และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง 70,000 คน-เที่ยวต่อวัน