‘มนพร’ ดัน ‘ท่าเรือกรุงเทพ’ รองรับเรือครุยส์ หนุนท่องเที่ยวทางน้ำ พร้อมเร่งเครื่องสร้างทางด่วนเชื่อมท่าเรือฯ เสร็จปี 70

“มนพร” สั่ง กทท. จัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส ดึงเทคโนโลยี-AI มาใช้ ดันเป็น Smart Port พร้อมสนองนโยบายรัฐ ดัน “ท่าเรือกรุงเทพ” รองรับเรือครุยส์ หนุนการท่องเที่ยวทางน้ำ พร้อมเร่งสร้างทางเชื่อมกับทางด่วน S1 มูลค่า 4 พันล้าน คาดเปิดประมูล Q2/67 เริ่มสร้างปีหน้า เสร็จพร้อมเปิดใช้ปี 70 ส่วน ทลฉ.เฟส 3 ลุยขายซองประมูลครั้งที่ 2 สร้างท่าเทียบเรือ-ถนน 7 พันล้าน เผยผลประกอบการปี 66 ฟันกำไร 6.8 พันล้าน สูงสุดในรอบ 72 ปี ตั้งเป้าปี 67 โกยกำไรแตะ 7 พันล้าน

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) วันนี้ (17 ต.ค. 2566) ว่า ได้มอบหมายให้ กทท. ดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ ด้วยความ และเป็นที่ยอมรับในสังคม พร้อมทั้งพัฒนาต่อยอดระบบโลจิสติกส์ ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน ให้มีความรวดเร็ว และแม่นยำ รวมถึงช่วยประหยัดงบประมาณในด้านบุคลากร ก้าวสู่การเป็นท่าเรืออัตโนมัติ (Smart Port) อีกทั้งให้มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายท่าเรือสีเขียว (Green Port) เชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศอย่างไร้รอยต่อ

ทั้งนี้ จากนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวนั้น จึงได้สั่งการให้ กทท. ไปพิจารณาการพัฒนาท่าเทียบเรือท่องเที่ยว (Cruise Terminal) บริเวณตึก OB ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) รองรับเรือสำราญขนาดกลาง และขนาดใหญ่ และรองรับผู้โดยสารกว่า 6,000 คน โดยการก่อสร้างที่พักคอย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อตอบรับความต้องการในการท่องเที่ยวทางน้ำมากขึ้น สะท้อนให้เห็นจากในปัจจุบันเรือครุยส์ได้จอดเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว หรือจาก 30 ลำ เพิ่มขึ้นเป็น 60 ลำ

ส่วนท่าเรือกรุงเทพ เรือครุยส์ล่องผ่านร่องน้ำเจ้าพระยา เริ่มกลับมาในปี 2566 แล้ว 1-2 ลำ จากช่วงก่อนโควิด-19 มีประมาณ 10 กว่าลำ ปัจจุบันรองรับผู้โดยสาร 1,000-2,000 คัน ดังนั้น กทท. จึงต้องเตรียมความพร้อม รวมถึงประสานกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.), กรมศุลกากร เป็นต้น เพื่อรองรับ และเพิ่มทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยว เชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำกับทางถนนเข้าเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือการท่องเที่ยวแบบวันเดย์ทริป (One Day Trip) อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะเห็นความชัดเจนภายในปี 2567

นางมนพร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้ผลักดันโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 4 พันกว่าล้านบาท แบ่งเป็น กทท. ลงทุน 50% และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 50% ทั้งนี้ คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างได้ในปีงบประมาณ 2567 เพื่อลดผลกระทบปัญหาจราจรระหว่างท่าเรือกรุงเทพกับการจราจรบนท้องถนนในเขต กทม. และปริมณฑล

ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า สำหรับโครงการเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ-S1 ผ่านการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ก่อนที่ กทพ. จะเป็นผู้ดำเนินการจัดการประมูล คาดว่า จะเปิดประมูลได้ในช่วงไตรมาส 2/2567 และเริ่มก่อสร้างในปี 2567 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2570

นอกจากนี้ กทท. ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับชุมชนท่าเรือคลองเตย จำนวน 101 ครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ-S1 เพื่อเสนอทางเลือก ตามโครงการ Smart Community ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเจรจาไว้ 3 แนวทางเลือก คือ 1.ให้ย้ายไปอาศัยในอาคารที่ กทท. เตรียมสร้างในรูปแบบคอนโด 2.ย้ายไปอยู่บริเวณที่ดินย่านหนองจอก และ 3.การให้เงินชดเชย อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 นั้น ขณะนี้ กทท. ได้ส่งมอบงานก่อสร้างงานทางทะเลในส่วนของงานพื้นที่ถมทะเล 1 (Key Date 1), พื้นที่ถมทะเล 2 (Key Date 2) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนพื้นที่ถมทะเล 3 (Key Date 3) คาดว่า จะส่งมอบพื้นที่ท่าเทียบเรือ F ขนาด 1,000 เมตร ให้บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) เอกชนคู่สัญญาได้ภายในกลางปี 2567

ขณะที่ส่วนที่ 2 งานจ้างเหมา ก่อสร้างโครงการฯ ได้แก่ งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค วงเงินประมาณ 7 พันล้านบาทนั้น อยู่ในขั้นตอนจำหน่ายเอกสารการประกวดราคา ครั้งที่ 2 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 15 ธ.ค. 2566 หลังจากครั้งที่ 1 มีผู้ยื่นเสนอเอกสารการประมูลรายเดียว ในส่วนงานที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนงานที่ 4 งานติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนการออกแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่า จะเปิดประมูลได้ในปี 2567

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2566 ของ กทท. นััน มีรายได้ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท มีผลกำไร 6.89 พันล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 72 ปีนับตั้งแต่เปิดดำเนินการ และตั้งเป้าหมายในปี 2567 จะมีกำไร 7 พันล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานให้บริการเรือ สินค้า และตู้สินค้าผ่านท่าเรือในปี 2566 นั้น ท่าเรือกรุงเทพ มีตู้สินค้าผ่านท่า 8.5 ล้าน ที.อี.ยู. ขณะที่ ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) มีตู้สินค้าผ่านท่า 1.2-1.3 ล้าน ที.อี.ยู.