ครม.เห็นชอบหลักการโปรเจกต์ ‘แลนด์บริดจ์’ มูลค่า 2.28 แสนล้าน ‘คมนาคม’ เตรียม Road Show พ.ย.66-ม.ค.67 คาดเริ่มสร้าง ก.ย.68 เสร็จพร้อมเปิดใช้ ต.ค.73

ครม. รับทราบหลักการ “แลนด์บริดจ์” เมกะโปรเจกต์คมนาคม มูลค่า 2.28 แสนล้าน เชื่อมการขนส่งอ่าวไทย-อันดามัน พร้อมเปิดไทม์ไลน์ เตรียมรับฟังความเห็นนักลงทุนต่างประเทศ พ.ย.นี้-ม.ค.67 คาดคัดเลือกเอกชนช่วงกลางปี 68 เริ่มก่อสร้าง ก.ย.68 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ ต.ค.73 รองรับปริมาณสินค้าท่าเรือฝั่งละ 20 ล้าน TEUs เพิ่มการจ้างงาน 2.8 แสนตำแหน่ง หนุนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (16 ต.ค. 2566) มีมติรับทราบหลักการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) ในการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) ต่อไป

สำหรับแผนการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์นั้น กระทรวงคมนาคม จะดำเนินการ Road Show ในช่วง พ.ย. 2566-ม.ค. 2567 จากนั้นจะจัดทำกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ภายในปี 2567 และจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ในช่วง ธ.ค. 2567

ทั้งนี้ จะคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนใน เม.ย.-มิ.ย. 2568 ควบคู่กับการดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดิน และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในช่วง ม.ค. 2568-ธ.ค. 2569 หลังจากนั้นจะเสนอ ครม.อนุมัติลงนามในสัญญาภายใน ก.ค.-ส.ค. 2568 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างใช้ระยะเวลา 5 ปี หรือ ก.ย. 2568-ก.ย. 2573 และเปิดให้บริการใน ต.ค. 2573

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุต่อว่า โครงการแลนด์บริดจ์ รวมประมาณการลงทุนโครงการ วงเงิน 228,512.79 ล้านบาท มีรูปแบบการพัฒนาโครงการโดยเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ซึ่ให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งโครงการ ในลักษณะท่าเรือเดียวเชื่อม 2 ฝั่ง (One Port Two Sides) โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่า

ทั้งนี้ เป็นการให้สิทธิแก่เอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี โดยภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเวนคืนที่ดิน ลงทุนทางรถไฟขนาด 1.0 เมตร และกำหนดสิทธิประโยชน์ให้กับเอกชนผู้ร่วมลงทุนในโครงการ พร้อมทั้งกำหนดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งโครงการฯ ประกอบด้วย ท่าเรือ ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หลังท่า

โดยแบ่งการลงทุนเป็นระยะ ได้แก่ การลงทุนท่าเรือฝั่งระนอง (อันดามัน) บริเวณแหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนอง ออกแบบให้สามารถรองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้า จำนวน 6 ล้าน TEUs ในปี 2573 ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 12 ล้าน TEUs ในปี 2577 และระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 8 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี 2579

ขณะที่ การลงทุนท่าเรือฝั่งชุมพร (อ่าวไทย) บริเวณแหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้า จำนวน 4 ล้าน TEUs ในปี 2573 ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 4 ล้าน TEUs รวมเป็น 8 ล้าน TEUs ในปี 2577 ระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 14 ล้าน TEUs ในปี 2579 และระยะที่ 4 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี 2582

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุอีกว่า สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์นั้น มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 17.43% มีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 8.62% ระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 อีกทั้งการพัฒนาโครงการฯ จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ จำนวน 280,000 ตำแหน่ง แบ่งเป็น จ.ระนอง จำนวน 130,000 ตำแหน่ง และ จ.ชุมพร 150,000 ตำแหน่ง รวมทั้งเป็นส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ 4.0% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปี

นอกจากนี้ โครงการแลนด์บริดจ์จะก่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดเบา เช่น การประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์อนาคต อาหาร กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้า เครื่องมือและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้า และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้โดยการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการต่างๆ ในพื้นที่ เช่น ร้านอาหาร โรงพยาบาล สถานบันเทิง ร้านค้าต่างๆ ระหว่างเส้นทางโครงการ เป็นต้น