จุดพลุ! นโยบายแรก Quick Win ‘ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย‘ เริ่มแล้ววันนี้ ’สีแดง & สีม่วง‘ คาดวันแรกมีผู้โดยสารรวม 1 แสนคน

เฮ! “สุริยะ“ จุดพลุนโยบาย Quick Win เร่งเปิดใช้ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ประเดิม 2 เส้นทาง ”MRT สายสีม่วง-สายสีแดง“ เริ่มแล้ววันนี้ คาดวันแรกมีผู้โดยสาร 2 สายรวม 1 แสนคน ส่วนเชื่อมข้ามระบบ @บางซ่อน ใช้ได้ 1 พ.ย.นี้ พร้อมเร่งตั้งคณะกรรมการเจรจากับเอกชน เดินหน้าใช้บริการได้ทุกสาย รอ พ.ร.บตั๋วร่วม-พ.ร.บ.รางฯ จ่อชง ครม.ไฟเขียวภายในปีนี้ ยันใช้ครบทุกสายภายใน 2 ปี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (16 ต.ค. 2566) ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท (นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย) ซึ่งถือเป็นนโยบาย Quick Win นโยบายแรกที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงกับประชาชน

ทั้งนี้ รัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคม จึงประกาศใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หรือปรับลดจากอัตราค่าโดยสารปัจจุบัน เริ่มต้น 14 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท เหลืออัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาทเฉพาะของแต่ละสาย ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ (16 ต.ค. 2566) เป็นต้นไป โดยจะนำร่อง 2 โครงการ คือ 1.โครงการรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 16 สถานี และ 2.โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน (สายธานีรัถยา) ระยะทาง 26 กม. จำนวน 10 สถานี และช่วงบางซื่อ-รังสิต (สายนครวิถี) ระยะทาง 15 กม. จำนวน 4 สถานี

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า วันนี้ ตน และผู้บริหารกระทรวงคมนาคม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางมาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นสถานีต้นสายของโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่ได้เริ่มประกาศใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเฉพาะของแต่ละสายก่อนในวันนี้ จากเดิมเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 เคยประกาศไว้ว่า จะเริ่มใช้นโยบายในช่วงปลายปี 2566 หรือภายใน 90 วัน เพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับประชาชน แต่ด้วยภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากสถานการณ์ความวุ่นวายในต่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน มีผลโดยตรงต่อผู้ใช้รถยนต์ จึงเริ่มประกาศใช้วันนี้ หรือใช้เวลาเพียง 38 วันเท่านั้น

ในส่วนของการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง กับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงนั้น กำหนดอัตราค่าโดยสารของทั้ง 2 สาย สูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยจะต้องเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที และในเบื้องต้นจะต้องใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน หรือบัตร EMV Contactless เท่านั้น โดยในระยะแรก หากข้ามระบบ ยังคงต้องชำระอัตราค่าโดยสารของแต่ละสายก่อน เนื่องจากในขณะนี้ อยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบหรือซอฟต์แวร์ คาดว่า จะเปิดให้บริการเชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงในอัตราสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสายในวันที่ 1 พ.ย. 2566

วันแรกของการประกาศใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คาดการณ์ว่า จะมีผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วงกว่า 100,000 คน-เที่ยวต่อวัน แบ่งเป็น รถไฟฟ้าสายสีแดง 30,000 คน-เที่ยวต่อวัน และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง 70,000 คน-เที่ยวต่อวัน“

นายสุริยะ กล่าว

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ขณะที่ในเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่นๆ นั้น หลังจากนี้ กระทรวงคมนาคมจะแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาร่วมกับภาคเอกชน เพื่อดำเนินการนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายให้ครอบคลุมโครงข่ายในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลในทุกเส้นทาง ตามเป้าหมายภายใน 2 ปีนับจากนี้ต่อไป ขณะเดียวกัน อยู่ระหว่างการเร่งรัดผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้าแต่ละราย หันมาใช้บัตรโดยสารรูปแบบเดียวกันทำได้ง่ายขึ้น ประชาชนไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าหลายครั้ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชนได้ ซึ่งขณะนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดเตรียมเสนอกระทรวงคมคมนาคม

ทั้งนี้ คาดว่า เสนอ ครม.พิจารณาภายในปี 2566 หลังจากนั้น จะเข้าสู่การนำร่างกฎหมายพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1 ปีกว่า ก่อนที่กฎหมายจะผ่านการพิจารณา และมีผลบังคับใช้ ซึ่งสามารถทำให้บัตรตั๋วร่วมหรือบัตรใบเดียวสามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อกันได้ทุกโหมดการเดินทาฃ เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ และ เรือ อย่างไรก็ตาม เมื่อ พรบ.ฯ ฉบับนี้ผ่านจะเป็นกลไกนำไปเจรจากับเอกชนและจะสามารถจัดตั้งกองทุนหารายได้ชดเชยให้กับผู้ประกอบการได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณต่อไป

อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมความพร้อม ทั้งในส่วนของสิ่งอำนวยความสะดวกบนสถานี อาทิ ลิฟท์ บันไดเลื่อน ให้มีความปลอดภัย รวมถึงมอบหมายให้ติดตั้งป้ายแนะนำการใช้บริการ จัดเตรียมเจ้าหน้าที่คอยดูแลความสะดวกในการเดินทาง และประชาสัมพันธ์ ให้คำแนะนำประชาชนที่มาใช้บริการ

พร้อมทั้ง ประสานไปยังองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารมาเป็น Feeder รับ-ส่งประชาชนไปใช้รถไฟฟ้า อีกทั้งให้ประเมิน และเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานการเปิดใช้นโยบาย เพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาและอุปสรรค ก่อนนำไปปรับปรุงการให้บริการ โดยให้รายงานผลมายังกระทรวงคมนาคมทุกเดือน ส่วนการดำเนินการนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะเป็นภาระต่องบประมาณหรือไม่นั้น นายสุริยะ กล่าวว่า เชื่อว่า จะไม่เป็นภาระงบประมาณ หรือรัฐบาลไม่จำเป็นต้องชดเชย เนื่องจากคาดการณ์ว่า หลังจากเปิดให้บริการประมาณ 2 ปีกว่า จะมีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น

กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว และเริ่มประกาศใช้ในวันนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้โดยสาร รวมถึงประหยัดเวลา และจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะระบบรางมากขึ้น ช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วย ตามนโยบาย “Transport Future for All: คมนาคมแห่งอนาคต เพื่อประชาชนทุกคน“ การคมนาคมที่ไม่ใช่เพียงแค่การเดินทาง แต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและโลก เพื่อคนรุ่นหลังอย่างยั่งยืนตลอดไป” นายสุริยะ กล่าว