ม.มหิดลมอบทุนผู้ช่วยวิจัยนศ.ไทยเรียนฟรีป.โทวิศวฯโยธาเสริมยุทธศาสตร์ชาติ

การพัฒนาด้านวิศวกรรมโยธา เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวิจัยเพื่อการสร้างสรรค์และผลิตนวัตกรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา

รองศาสตราจารย์ ดร.ยโสธร ทรัพย์เสถียร ประธานหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (หลักสูตรนานาชาติ) ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงการให้ความสำคัญของพัฒนาหลักสูตรโดยเน้นการทำความร่วมมือระดับนานาชาติ และการสนับสนุนนักศึกษาไทยและต่างชาติ ด้วยการให้ทุนการศึกษาและโอกาสในการเข้าร่วมโครงการวิจัย เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาวิศวกรรมโยธาให้มีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (หลักสูตรนานาชาติ) ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มโครงการมอบทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาไทยที่มีผลการเรียนดี เพิ่มเติมนอกเหนือจากทุนที่มหาวิทยาลัยมหิดลมอบให้ เช่น ทุนเฉลิมพระเกียรติ 60 ปีครองราชสมบัติ

นอกจากนี้ นักศึกษายังมีโอกาสรับทุนผู้ช่วยวิจัย (RA – Research Assistantship) ตามโครงการวิจัยที่สนใจ ซึ่งเป็นการยกระดับและเพิ่มสมรรถนะของบัณฑิตในสาขาวิศวกรรมโยธา และเสริมสร้างคุณภาพการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาวิชาวิศวกรรมโยธาให้ดียิ่งขึ้น

หลักสูตรฯ มีความร่วมมือระดับนานาชาติกับ มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ชิคาโก (University of Illinois at Chicago) สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านไฟไนต์เอลิเมนต์ (FEA – Finite Element Analysis) โดยวิธี Meshfree Method ซึ่งเป็นวิธีการทางคณิตศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาทางวิศวกรรมที่เหมาะสำหรับคำนวณการกระทำที่มีความเร็วและแรงสูง

นอกจากนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดตั้ง ANSYS Hub ร่วมกับบริษัท CADFEM SEA เพื่อพัฒนาทักษะด้านวิศวกรรมด้วยซอฟต์แวร์มาตรฐานระดับโลก ANSYS สำหรับแก้ปัญหาทางวิศวกรรม

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน คือ จุดแข็งด้านการออกกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ อาจารย์ในหลักสูตรฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการออกกฎหมายเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารต้านแรงแผ่นดินไหวของประเทศไทย

ด้วยความพร้อมในวิชาการดังกล่าวยังส่งผลให้ที่ผ่านมา นักศึกษาในหลักสูตรสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากการออกแบบอาคารจำลองเพื่อรองรับแรงแผ่นดินไหว และเป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งจัดขึ้น ณ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ร่วมจัดตั้ง ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (Earthquake Research Center of Thailand) ภายใต้โครงการ Hub of Talents ซึ่งเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านแผ่นดินไหว ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างความเข้าใจ และตระหนักรู้ทันต่อเหตุการณ์ตามหลักวิชาการให้กับประชาคมวิจัยและประชาชนทั่วไป

สำหรับด้านการพัฒนาเทคโนโลยีที่โดดเด่นล่าสุด คือ อาจารย์ ดร.ทศวัฒน์ ดวงวิไลลักษณ์ ทำการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ 3D Concrete Printing ในการก่อสร้างด้วยคอนกรีตขึ้นรูปสามมิติซึ่งมีความแข็งแรงสูง อีกทั้งช่วยลดความผิดพลาด และการใช้แรงงานที่น้อยลง ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างลดลงได้ตามไปด้วย

หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตมหาบัณฑิตด้านวิศวกรรมโยธาที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยให้ความสำคัญกับทักษะและความรู้ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบวิชาชีพและส่งเสริมจริยธรรมในวิชาชีพวิศวกรรมโยธา เพื่อร่วมสร้างความเจริญรุ่งเรืองของประเทศได้อย่างเห็นผลและยั่งยืน พร้อมต่อยอดสู่การเพิ่มขีดพลังศักยภาพในการแข่งขันของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติได้ต่อไป