‘กรมรางฯ’ คลอด 2 โมเดล ‘ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ สนองนโยบายรัฐบาลใหม่ ชี้เล็งประเดิม ‘ผู้ถือบัตรคนจน’ ทำง่าย-ไวสุด

กรมรางฯเปิดแผนค่าโดยสารรถไฟฟ้า “20 บาทตลอดสายสนองนโยบายรัฐบาลใหม่ ลั่นสร้างประโยชน์ 7 เรื่อง เตรียมชงเคาะไฟเขียว จ่อประเดิมผู้ถือบัตรสวัสดิการรัฐคาดมีผู้ใช้บริการวันละ 3.4 หมื่นคน รัฐอุดหนุน 307 ล้าน/ปี ชี้ระบบอุปกรณ์งบพร้อมดำเนินการได้ทันที ส่วนโมเดลทุกคนใช้ 20 บาทตลอดสาย ผู้โดยสารวันละ 1.19 ล้านคน เผยรัฐต้องอุดหนุนปีละ 5.4 พันล้าน ถ้าใช้เฉพาะช่วงต้นปี ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 อุดหนุนแค่พันล้านบาท

แหล่งข่าวจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากพรรคเพื่อไทย โดยมีนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคม โดย ขร. ในฐานะที่มีภารกิจอำนาจ และหน้าที่ในการพัฒนาด้านการขนส่งทางรางของประเทศ จึงได้ดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์ กรณีค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และให้เป็นไปตามกลุ่มเป้าหมายของผู้เดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางราง

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้จัดทำข้อมูล เพื่อเตรียมเสนอต่อรัฐบาลใหม่ ตามที่ได้ศึกษาวิเคราะห์รายละเอียดการดำเนินงาน และหารือกับหน่วยงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การดำเนินงาน ด้วยความรอบคอบ คุ้มค่าและเหมาะสม ทั้งในส่วนของเกณฑ์และแนวทางในการกำหนดอัตราค่าโดยสารราคา 20 บาทตลอดสาย, กลุ่มเป้าหมาย, ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน และความคุ้มค่าของโครงการ, ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ, งบประมาณอุดหนุนและชดเชยให้กับผู้ประกอบการ และนโยบายเจรจากับผู้ประกอบเดินรถคิดค่าโดยสารในอัตรา20 บาทตลอดสาย

ในการศึกษาและวิเคราะห์นั้น แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีให้สิทธิ 20 บาทตลอดสายกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งกรณีนี้ มีความเป็นไปได้มากที่สุด สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากมีความพร้อม ทั้งระบบ อุปกรณ์ รวมถึงงบประมาณที่จะนำมาดำเนินการ และ 2.กรณีให้สิทธิสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการทุกคน ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้ครอบคลุมระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าทั้งหมดที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย รถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว, สายสีทอง, โมโนเรลสายสีเหลือง รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน, สายสีม่วง, รถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์

แหล่งข่าวจาก ขร. กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีให้สิทธิ 20 บาทตลอดสาย สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยนั้น ขร. ได้ประสานกรมบัญชีกลาง เรื่องข้อมูลจำนวนผู้มีรายได้น้อย (เทียบเคียงผู้ใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ) เพื่อนำมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการให้สิทธิ 20 บาทตลอดสายกับประชาชนกลุ่มดังกล่าว โดยเมื่อพิจารณาจากแบบจำลองฯ พบว่า หากค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะมีปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณ 6,061 คนเที่ยว หรือ0.56% กล่าวคือ จะมีผู้โดยสารใช้บริการ 34,000 คน/วัน จากปัจจุบันที่มีผู้โดยสาร 31,019 คน/วัน เพิ่มขึ้นวันละประมาณ 2,981 คน

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์เงินที่ต้องอุดหนุนกรณีผู้มีรายได้น้อย จะต้องใช้เงินอุดหนุน 34.63 หรือประมาณ 35 บาทต่อคนโดยคาดว่าจะใช้เงินอุดหนุน 52,190 บาท/วัน รวม 307.86 ล้านบาท/ปี ซึ่งหากรัฐบาลมีมติให้เริ่มดำเนินการในส่วนนี้หลังจากนี้ จะต้องบูรณาการกับหน่วยงานของกระทรวงการคลังที่รับผิดชอบเกี่ยวกับโครงการสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจากการประสานเบื้องต้น ทางโครงการฯ จะมีคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ ในการพิจารณาความเหมาะสมก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการต่อไป

แหล่งข่าวจาก ขร. กล่าวอีกว่า ขณะที่กรณีให้สิทธิ 20 บาทตลอดสาย สำหรับประชาชนผู้ใช้บริการทุกคน จากการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองของโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่2 (M-MAP 2) พบว่า ปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มได้ประมาณ 104,296 คนเที่ยว หรือ 9.59% กล่าวคือ จะมีผู้โดยสารใช้บริการ 1,191,937 คน/วัน จากปัจจุบันที่มีผู้โดยสาร 1,087,641 คน/วัน เพิ่มขึ้นวันละประมาณ 10%

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์เงินที่ต้องอุดหนุนกรณีให้สิทธิสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการทุกคร จะต้องใช้เงินอุดหนุน 17.47 บาทหรือประมาณ 17 บาทต่อผู้โดยสารที่เดินทางในระบบ คาดว่าจะใช้เงินอุดหนุน 16,502,210 บาท/วัน หรือรวม 5,446 ล้านบาท/ปี โดยหากรัฐบาลมีมติอนุมัติให้ดำเนินการ จะต้องบูรณาการกับหน่วยงานของกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณที่รับผิดชอบทางการคลังของรัฐ เกี่ยวกับจำนวนเงินที่จำเป็นในการอุดหนุนค่าโดยสารส่วนต่าง

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการ จะต้องศึกษาวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการดำเนินการนโยบายอย่างละเอียด รอบคอบโดยกระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้เสนอ ครม. พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งเมื่อ ครม.อนุมัติแล้ว คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันที ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการได้ในช่วงต้นปีของแต่ละปี เพื่อช่วยลดปัญหาปริมาณฝุ่น PM 2.5 จากการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนซึ่งเป็นระบบที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษได้ ทั้งนี้ หากเปิดให้ใช้เฉพาะช่วงเวลาดังกล่าว รัฐจะอุดหนุนเพียงแค่ประมาณ 1,000 ล้านบาท/ปีขณะเดียวกัน จะต้องหารือกับภาคเอกชนด้วย เพื่อพัฒนาระบบ อาทิ EMV ให้สามารถเชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด เพราะนโยบายนี้ต้องใช้ระบบ EMV เป็นหลัก บางเส้นทางมีระบบนี้จึงจะทำได้

สำหรับประโยชน์ของนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านจราจรและขนส่ง และผลประโยชน์อื่นๆ คือ 1.ลดระยะเวลาการเดินทางบนถนน/ลดปัญหาการจราจรติดขัด 2.ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน 3.ลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของประชาชนในประเทศ 4.ลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน 5.ส่งเสริมการใช้ระบบราง 6.ส่งเสริมแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี .. 2564–2573 และ 7.ส่งเสริมการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพของเมือง